โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อผลักดันการส่งออก โดยมุ่งพัฒนานักรบเศรษฐกิจยุคใหม่จากภาคการศึกษา บูรณาการตามบันทึกข้อตกลง หรือ MOU ความร่วมมือด้านวิชาการ ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กับสถาบันการศึกษาในภาคเหนือทั้ง 7 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยพายัพ, มหาวิทยาลัยแม่โจ้, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
โดยสามารถนำมาวัดผลเป็นหน่วยกิตให้กับนักศึกษาที่จบหลักสูตร และต่อยอดในการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการทำการค้าระหว่างประเทศได้จริงในอนาคต กลุ่มเป้าหมายคือ นักศึกษา ผู้ประกอบการ บุคคลทั่วไป ในภูมิภาคภาคเหนือจำนวนประมาณ 1,500 ราย ผ่านการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ ในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2563
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของกระทรวงพาณิชย์ เป็นครั้งแรกที่เริ่มต้นโครงการ “สร้างเจนซีให้เป็นซีอีโอ” เป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ คือ การสร้างซีอีโอเจนซี ให้เกิดขึ้นทั่วประเทศอีกไม่ต่ำกว่า 10,000 คน รวมทั้งสิ้น 12,000 คน เพื่อให้ซีอีโอเจนซีเป็นทัพหน้าให้กับการค้า และเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย นำรายได้เข้าประเทศและทำให้เศรษฐกิจในประเทศหมุนเวียนต่อไป ซึ่งนอกจาก 7 สถาบันการศึกษาภาคเหนือ โครงการนี้จะดำเนินการในทุกภาค ร่วมกับอาชีวศึกษา และสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ
“เด็กต่างจังหวัดทุกคนต้องได้รับโอกาสในการที่จะได้รับองค์ความรู้ ก้าวสู่การเป็นซีอีโอเจนซี โดยเจนซีทั้งประเทศมีทั้งสิ้น 12.6 ล้านคน เป็นเด็กต่างจังหวัด 10.6 ล้านคน คิดเป็น 85%” นายจุรินทร์ กล่าว
พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปมากจากปัจจัยต่าง โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ตลอดจนสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน และมาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่างๆ ซึ่งถ้าผู้ประกอบการมีความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น ก็จะสามารถเตรียมการรับมือได้
หัวใจสำคัญที่สุดที่ประเทศไทยต้องดำเนินมี 2 ข้อ 1. ต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์การผลิต ปรับสู่ “ตลาดนำการผลิต” 2. ปรับรูปแบบทางการค้าจากรูปแบบออฟไลน์ สู่การค้าออนไลน์ ทั้ในประเทศและระหว่างประเทศ
“เด็กยุคใหม่อยากจะเป็น ซีอีโอ ไม่ค่อยมีใครอยากทำงานบริษัทหรืออยู่ในองค์กร แต่ต้องการมีธุรกิจของตัวเอง และธุรกิจยุคใหม่ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก จำเป็นต้องใช้ความรู้เรื่องการค้าออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซ”
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กล่าวว่า สำหรับหลักสูตรที่สอนเป็นการสร้างหลักสูตรร่วมกันของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กับมหาวิทยาลัย แบ่งเป็นเนื้อหาของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ ประมาณ 30% หรือ 15-18 ชั่วโมง ซึ่งจะมีเนื้อหาที่เกี่ยวเนื่องกันกับวิชาการค้าระหว่างประเทศ อาทิ การค้าออนไลน์ โลจิสติกส์ที่ทันสมัย โดยนำหลักสูตรที่ใช้กับการอบรมภาคเอกชน มาปรับใช้ให้มีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
โดยจะมีผู้ส่งออกที่มีประสบการณ์มาช่วยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น วิเคราะห์สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ ให้เข้าใจว่าการบริหารจัดการแบรนด์สินค้าต้องทำอย่างไร เพื่อให้ทันเหตุการณ์ พร้อมเจาะลึกแพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น Tmall, Amazon, Bigbasket.com Jatujakmall, Thailandpostmart.com ของไปรษณีย์ไทย รวมทั้งระบบโลจิสติกส์ที่มีการขนส่งในรูปแบบใหม่
“โครงการนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างผู้ประกอบการที่เป็นคลื่นลูกใหม่ ด้านการค้าระหว่างประเทศของไทย ที่มีความมั่นใจ และมีความพร้อมในการก้าวเข้าไปสู่ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศต่อไป” นายสมเด็จ กล่าว
บรรยากาศเปิดตัวโครงการ