ที่ศาลทหารกรุงเทพ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ และนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ เดินทางมายังศาลทหารในการสืบพยานโจทก์ จากกรณีถูกอัยการศาลทหารฟ้องขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 5/2557 และ 57/2557 ฐานไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. เพราะเดินทางไปต่างประเทศ และได้แจ้งไปยังคสช.ถึงเหตุขัดข้องที่ไม่สามารถมารายงานตัวได้โดย ซึ่งคดีตอนนี้อยู่ในชั้นสืบพยานโจทย์ โดยแนวทางในการต่อสู้คดีต้องดูรายละเอียดในศาล เพราะมี 2 คำสั่ง คสช. ที่ไม่ยอมมารายตัวถึง 2 ครั้ง ซึ่งถือว่ามีโทษหนัก จำคุก 4 ปี หรือปรับ 80,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยตนเองต้องการให้ศาลชี้ขาดในเบื้องต้นก่อน เพราะเมื่อมีคำสั่งคสช.ที่ 57/2557 แล้ว คำสั่งที่ 5/2557 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ต้องถือเป็นอันยกเลิกไป แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล พร้อมยืนยันจะต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม
ต่อมา นายวรเจตน์ กล่าวถึงกรณี นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำพรรคอนาคตใหม่และอดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ว่า ตนเองเสียดายความรู้ความสามารถของนายปิยบุตร แต่ก็เข้าใจและให้กำลังใจ ที่อยากจะเข้าไปทำงานการเมือง เพราะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องรอดูว่าจะสามารถเปลี่ยนได้มากน้อยแค่ไหน แต่ด้วยกติกาตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ไม่สามารถทำอะไรได้ง่าย และเชื่อว่า ในไม่ช้าประชาชนจะเห็นรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาจริง
เมื่อถูกถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหน้าหน้าคสช. จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกหรือไม่ นายวรเจตน์ กล่าวว่า ประเทศไทยเคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาแล้วเมื่อเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 35 ตอนสมัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีตนายกรัฐมนตรี มาแล้ว ควรนำบทเรียนเหล่ามาปรับใช้ และส่วนตัวไม่ขอแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ และไม่ทราบว่าจะมีพรรคไหนเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่
ในส่วนกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยที่มาสมาชิกวุฒิสภา นายวรเจตน์ กล่าวว่า ยุคนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะคสช.มีอำนาจเด็ดขาดทั้งในทางนิติรัฐและนิติธรรม ซึ่งการเลือกตั้งจะเลื่อนหรือไม่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ แต่คสช.ต้องดูอารมณ์ของสังคมด้วย