ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) เผยแพร่ข้อความผ่าน เพจเฟสบุ๊ค ‘เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง – คนส.‘ ว่า คนส.ได้รับจดหมายแจ้งข้อมูลจาก ผศ.ดร.อัจฉรา รักยุติธรรม อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรฯ ถึงการที่กิจกรรมในชั้นเรียนของเธอถูกคุกคามข่มขู่และถูกรบกวนจากเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบหลายนาย คนส.จึงเห็นควรนำจดหมายฉบับนี้มาเปิดเผยให้สาธารณะได้รับรู้ถึงสถานการณ์ความกดดันที่เกิดขึ้นในพื้นที่การศึกษา อันเป็นปัญหาต่อการกระบวนการเรียนการสอน และการเรียนรู้ของนักศึกษาเป็นอย่างมาก โดยภายในจดหมายระบุว่า
เขียนที่ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ อ.เมือง จ.นครปฐม
16 มีนาคม 2561
เรื่อง ขอแจ้งข้อมูลเพื่อบันทึกเหตุการณ์การถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามการเรียนการสอน และโปรดเผยแพร่
ข้อเท็จจริงต่อสาธารณะ
เรียน ผู้ประสานงานเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)
จากการที่ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ได้จัดโครงการสังคมสนทนา “คุยกับผู้ต้องหา คนธรรมดาที่อยากเลือกตั้ง” มีวิทยากรสิบกว่าท่านซึ่งเป็นผู้ต้องหาจากคดีสติ๊กเกอร์โหวตโน MBK39 และ RDN50
ภาควิชาฯ ได้ประชาสัมพันธ์งานล่วงหน้า “เกือบหนึ่งเดือน” ในแฟนเพจของภาควิชาฯ และเปิดให้ลงทะเบียนออนไลน์ พร้อมทั้งแจ้งว่า หากไม่ลงทะเบียนล่วงหน้าจะไม่ให้อนุญาตให้เข้าร่วมงาน
ก่อนวันงานเพียง “หนึ่งวัน” มีเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ 7-8 นาย ติดต่อขอคุยกับหัวหน้าภาควิชาฯแต่ถูกปฏิเสธ พวกเขาจึงขอพบคณบดีคณะอักษรศาสตร์ (ดิฉันไม่แน่ใจว่าสังกัดอะไรและแต่งเครื่องแบบมาหรือไม่อย่างไรเพราะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์) ทราบภายหลังว่าท่านคณบดีได้ชี้แจงและให้ข้อมูลไปตามเนื้อหาโครงการ
ท่านคณบดีไม่ได้ระงับยับยั้งการจัดกิจกรรม ดิฉันได้พบท่านอีกวันถัดมาจึงเรียนถาม ท่านตอบเพียงสั้น ๆ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการมาสอบถามของเจ้าหน้าที่รัฐมากนัก แต่เจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งของคณะฯ แสดงความเห็นกับดิฉันว่า เธอประหลาดใจกึ่งตกใจที่เห็นนายทหารจำนวนมากมาที่คณะฯ
การจัดกิจกรรมครั้งนี้ได้ขออนุมัติจากคณบดีตามระเบียบขั้นตอนทุกประการ และมีการส่งจดหมายเชิญอย่างเป็นทางการจากคณะไปยังวิทยากรทุกท่าน (ลงนามโดยคณบดี) ดิฉันได้เขียนไว้ในโครงการอย่างรัดกุมแล้วว่า กิจกรรมนี้เป็นบริการวิชาการของภาควิชาซึ่งเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าฟัง บูรณาการกับการเรียนการสอนในวิชาที่ดิฉันรับผิดชอบ ได้แก่ วิชาทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ (หัวข้อ Interpretive approach) ทฤษฎีร่วมสมัย (หัวข้อ New Social Movement) วิชาสื่อเพื่อการพัฒนา (ให้นักศึกษาฝึกปฏิบัติทำสื่อ) และยังบูรณาการกับงานวิจัยของ ดิฉันหัวข้อ พลเมืองผู้ตื่นตัวฯ
ก่อนเริ่มงานถึง 2 ชั่วโมง มีชายวัยกลางคน 2 คนที่ไม่ได้ลงทะเบียนล่วงหน้า เข้ามานั่งในห้องสัมมนาก่อนที่ทีมเตรียมงานจะมาพร้อมกัน เมื่อสอบถามพวกเขาแจ้งว่าเป็นนักศึกษา ม.ราชภัฏ แห่งหนึ่งใน กทม. กำลังทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “พลเมืองผู้ตื่นตัวฯ” ซึ่งพ้องกับชื่องานวิจัยของดิฉันเอง (คงไม่ได้ทำการบ้านดีนักจึงก็อปปี้คำมาโดยตรง) เขาบอกว่า “ขอนั่งตากแอร์” เขาเฝ้าสังเกตการณ์การเตรียมงานของพวกเรา (คงอยากทราบว่าใครเป็น “เบื้องหลัง”)
เมื่อเริ่มงานมีชายนอกเครื่องแบบ แต่ทรงผมอยู่ในระเบียบวินัย 5-6 นาย มาขอเข้างานทั้งที่ไม่ได้ลงทะเบียนล่วงหน้า และไม่ยอมลงทะเบียนหน้างาน ดิฉันแจ้งนักศึกษาว่าจะยอมให้พวกเขาเข้างานก็ต่อเมื่อยอมลงทะเบียน จนในที่สุดพวกเขาลงทะเบียนโดยมียศต่าง ๆ นำหน้าชื่อ พวกเขาแจ้งว่ามา “ดูความเรียบร้อย” ซึ่งความจริงแล้วทุกอย่างเรียบร้อยเป็นปกติดีกระทั่งพวกเขามาสร้างความวุ่นวาย
ผู้ฟังส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจากสามรายวิชาข้างต้น วิทยากรและผู้ติดตามวิทยากร รวมทั้งประชาชนผู้สนใจจริง ๆ บรรยายกาศเป็นไปด้วยดี เว้นเสียแต่ว่าชายผมเกรียนเหล่านั้นเดินถ่ายภาพและบันทึกวีดีโอ จนกระทั่งนักศึกษามาถามดิฉันว่าอนุญาตให้เขาทำเช่นนั้นได้หรือไม่ ดิฉันแจ้งนักศึกษาว่าปล่อยเขาทำไป เพราะอยากทราบว่าถึงที่สุดแล้วเจ้าหน้าที่รัฐจะคุกคามห้องเรียนของพวกเราอย่างไร แต่บอกนักศึกษาให้กำกับดูแลอย่าให้เดินเพ่นพ่านรบกวนสมาธิผู้อื่น นักศึกษาจึงจำกัดพื้นที่ให้พวกเขาอยู่หลังห้อง ซึ่งพวกเขาถ่ายภาพและบันทึกวีดีโอตลอดเวลา
ระหว่างงานดิฉันใช้คอมพิวเตอร์บันทึกการนำเสนอบนเวที ผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นนักศึกษา นอกจากจะบันทึกภาพตลอดเวลาด้วยโทรศัพท์มือถือแล้ว ยังพยายามเข้ามาขอบันทึกของดิฉัน ซึ่งดิฉันไม่ให้ ได้แต่คิดในใจว่านักศึกษาระดับปริญญาตรีในคลาสของดิฉันทุกคนทุกรุ่นจะทราบดีว่า “ความรู้” เป็นสิ่งที่ต้องแสวงหาและสร้างขึ้นมาเองจากการค้นคว้า ฟัง และแลกเปลี่ยน ไม่ใช่การลอกงานคนอื่นมาส่ง หากชายสองคนนี้เป็นนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาจริงก็ควรจะสอบไม่ผ่านเรื่องมารยาทและจรรยาบรรณทางวิชาการ แต่หากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็ควรจะขยันทำงานเหมาะสมและคุ้มค่ากับภาษีประชาชนมากกว่านี้
หลังการเสวนาสองรายการ (เวทีใหญ่) เจ้าหน้าที่สันติบาลยศพันตำรวจโท ซึ่งลงทะเบียนล่วงหน้าแล้ว ได้เข้ามาแนะนำตัวกับดิฉันด้วยท่าทีเป็นมิตร บอกว่าเขาก็เรียนปริญญาโทอยู่จึง “เข้าใจ” วิธีการเรียนการสอนแบบนี้ พร้อมกับให้คำแนะนำว่าการพูดของพี่ๆ ผู้ต้องหาในเวทีที่สอง “ไม่เหมาะสม” เข้าข่ายผิดคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ซึ่งสำหรับเขาแล้ว “ไม่เป็นไร” แต่ไม่ทราบว่านายของเขาจะว่าอย่างไร ดิฉันกล่าวว่า “นายของคุณคงจะเห็นจากบันทึกวีดีโอที่คุณบันทึกไว้ตลอดเวลาใช่ไหมคะ” ดิฉันแลกเปลี่ยนอย่างเป็นมิตร และแจ้งว่าหากจะมีการสอบสวนกรุณามาดำเนินการกับดิฉันในฐานะผู้จัดงาน อย่าไปรบกวนวิทยากร หัวหน้าภาค หรือคณบดี ดิฉันยินดีให้ความร่วมมือ พร้อมทั้งได้แจ้งวันเวลาที่สะดวกพร้อมทั้งให้อีเมล์เพื่อการติดต่อ เขาแจ้งเพิ่มเติมว่าหากจะใช้วิธีการเก็บข้อมูลวิจัยด้วยวิธีการแบบนี้อีกอาจจะมีปัญหา (ดิฉันคิดว่าเป็นปัญหาของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ใช่ปัญหาของดิฉัน) อีกทั้งยังแจ้งว่าดิฉันอาจถูกจับตามอง ดิฉันตอบไปว่าดิฉันยินดี และหากไปค้นประวัติของดิฉัน (คือทำการบ้านสักหน่อย) ก็น่าจะพบอะไรมากกว่านี้
แม้ว่าการพูดคุยจะเป็นไปอย่างสุภาพและดูเป็นมิตร แต่ดิฉันเห็นว่าดิฉันกำลังถูกข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว ด้วยการอ้างคำสั่ง คสช. 3/58 การบอกว่า “ไม่เหมาะสม” และจะ “ถูกจับตามอง” ทั้ง ๆ ที่กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนการสอน
หลังเสร็จเวทีใหญ่ มีการย้ายห้องและแบ่งกลุ่มย่อยเป็น 4 กลุ่ม เพื่อให้นักศึกษาได้สัมภาษณ์เจาะลึกวิทยากรตามประเด็นที่ได้รับมอบหมายและเตรียมการมา เจ้าหน้าที่ยังคงตามมาที่ห้องกลุ่มย่อย เพื่อถ่ายรูป จนกระทั่งวิทยากรท่านหนึ่งแสดงความไม่พอใจและต่อว่าเจ้าหน้าที่อย่างรุนแรง พวกเขาจึงหลบไปนั่งอยู่หลังห้อง แต่ผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นนักศึกษา มรภ. หนึ่งในสองคนยังคงเดินถ่ายรูป โดยไม่ได้สนใจเนื้อหาการแลกเปลี่ยนใด ๆ
เช้าวันนี้ (16 มี.ค.61) ในการเรียนวิชาทฤษฎีสังคมศาสตร์ร่วมสมัย ดิฉันแลกเปลี่ยนกับนักศึกษาถึงกิจกรรมเสวนาดังกล่าว นักศึกษาทั้งหมดที่เข้าเรียนวันนี้แสดงความคิดเห็นว่ากระบวนการเรียนการสอนถูกแทรกแซงและคุกคามอย่างเห็นได้ชัด และรู้สึกรำคาญ แต่ก็ดูตลกขบขันดี
อย่างไรก็ตาม นักศึกษาได้เรียนรู้ประสบการณ์จริงเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่จากวิทยากรทุกท่าน พร้อมทั้งยังได้เห็น “การสาธิต” การใช้อำนาจรัฐ ละเมิดสิทธิ และคุกคามประชาชน ในทุกพื้นที่ แม้แต่ในพื้นที่การศึกษา ซึ่งเป็นไปตามประเด็นของเนื้อหาวิชา พวกเขา/เธอจึงเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าเหตุใด “คนธรรมดา” จึงออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และทำให้เกิดเครือข่ายขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในเมืองไทยอย่างมากมายในปัจจุบัน
ขอขอบพระคุณการสาธิตของเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าว และดิฉันพร้อมที่จะรอชมการสาธิตในลำดับต่อไปหากได้รับการติดต่อมา
ผศ.ดร.อัจฉรา รักยุติธรรม
อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์
มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์