วันที่ 8 กรกฎาคม 2563 เวลา 10.00 น.ณ ห้องศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ : พลเอก พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 5 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 โดยมี ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม
การประชุมครั้งนี้ได้ประชุมหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลและเตรียมการปฏิบัติงานในอนาคต ดังนี้
กองบัญชาการกองทัพไทย การพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตแผนที่ให้ทันสมัย รวดเร็ว ทันกับการพัฒนาประเทศและบริการข้อมูลแผนที่ทางบกให้ใช้งานได้ง่าย สะดวก รวมทั้งพัฒนาขีดความสามารถในการเชื่อมโยงกับแผนที่ทางทะเล แผนที่ทางอากาศได้ เพื่อบูรณาการข้อมูลแผนที่ของกองบัญชาการกองทัพไทยและเหล่าทัพให้เป็นข้อมูลแผนที่กลางของกองทัพไทยในการปฏิบัติการทางทหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กองทัพบก กำหนดให้ปี 2563 เป็น “ปีแห่งการพัฒนาความรู้ และความสามารถทางทหารของกำลังพลกองทัพบกในทุกระดับ” โดยกำหนดแนวทางการปฏิบัติที่สำคัญได้แก่ การยกระดับมาตรฐานความแข็งแรงทางด้านร่างกาย,การพัฒนาด้านความรู้,การพัฒนาความชำนาญทางทหาร และการปรับปรุงพัฒนาการฝึกให้สอดคล้องกับแนวทางการใช้กำลังของกำลังพล นอกจากนี้ ยังได้จัดทำคู่มือทหารต้านโควิด–19 เพื่อให้สามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมแห่งชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นไปตามมาตรการควบคุมหลักของรัฐบาลและกระทรวงกลาโหม เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายของการเป็นกองทัพที่มีศักยภาพ ทันสมัย เป็นที่เชื่อมั่นของประชาชน และเป็นหนึ่งในกองทัพบกชั้นนำของภูมิภาค
กองทัพเรือ การเตรียมความพร้อมในการรองรับสงครามอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapon of Mass Destruction : WMD) ได้แก่ อาวุธเคมี ชีวะ รังสี และนิวเคลียร์ หรืออาวุธ คชรน. (Chemical-Biological-Radiological and Nuclear : CBRN) โดยได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจ ที่ขนานนามว่า “นักรบ คชรน.” ทำหน้าที่หลักใน 3 ด้าน ได้แก่ ปฏิบัติการป้องกันสงครามนิวเคลียร์ ชีวะ เคมี,ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายที่ใช้อาวุธทำลายล้างสูง และปฏิบัติการบรรเทาสาธารณภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย เพื่อปฏิบัติภารกิจร่วมกับมิตรประเทศและเข้าร่วมกับสหประชาชาติได้อย่างสอดประสาน มุ่งเน้นให้ผู้ปฏิบัติเกิดความมั่นใจว่า “ทำได้จริง ควบคุมได้จริง” สามารถนำไปสู่ขั้นการปฏิบัติได้โดยอัตโนมัติทั้งในการปฏิบัติการเรือ การปฏิบัติการทางบก และการช่วยเหลือประชาชน
กองทัพอากาศ การพัฒนาขีดความสามารถกำลังทางอากาศ ทั้งมิติทางอากาศ (Air Domain) มิติไซเบอร์ (Cyber Domain) และมิติอวกาศ (Space Domain) บนแนวคิดการปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง (Network Centric Operations) ใน 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาที่อยู่บนฐานคิดของการเปลี่ยนแปลงจากภัยคุกคามแบบดั้งเดิม,การพัฒนามิติทางอากาศ,การพัฒนามิติทางไซเบอร์,การพัฒนามิติอวกาศ,การพัฒนาขีดความสามารถในการปฏิบัติการร่วม และการพัฒนาขีดความสามารถในการพัฒนายุทธวิธีการรบทางอากาศ เพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็นกองทัพอากาศชั้นนำในภูมิภาค
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในการประสานการปฏิบัติกับกลไกหลักของแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศผ่านกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (กอ.รมน.จว.) ขับเคลื่อนการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศในลักษณะการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ อาทิ ฝ่ายปกครอง ทหาร กระทรวงสาธารณสุข มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการควบคุม กำกับดูแล สั่งการและติดต่อสื่อสารกับหน่วยต่างๆ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดและป้องกันปราบปรามอาชญากรที่ฉวยโอกาสก่อเหตุในสถานการณ์วิกฤติโควิด–19 รวมทั้งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทำให้แนวโน้มของผู้ติดเชื้อลดลงจนอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ อันจะส่งผลให้การใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้กล่าวขอบคุณเหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ให้การสนับสนุนดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด–19) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเน้นย้ำให้เหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปลูกฝังกำลังพลทุกนายให้มีความจงรักภักดี ปกป้อง พิทักษ์รักษา และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมทั้งให้การสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 อย่างต่อเนื่อง และเตรียมพร้อมในการฟื้นฟูหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ คลี่คลาย นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำให้เหล่าทัพเตรียมความพร้อมด้านกำลังพลและยุทโธปกรณ์ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในห้วงฤดูฝนที่อาจเกิดภัยธรรมชาติได้ ตลอดจนกวดขันกำลังพลทุกระดับอย่างใกล้ชิดในการประพฤติปฏิบัติตนตามแบบธรรมเนียมทหารอย่างเคร่งครัด ไม่กระทำการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ พร้อมทั้งใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบในการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของสังคมต่อไป