ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งให้ออกหมายจับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลังไม่ปรากฏตัวในศาล ในคดีเปลี่ยนแปลงสัมปทานรัฐ เอื้อประโยชน์บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน โดยองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในออกนั่งบัลลังก์ อ่านกระบวนการพิจารณานัดแรกในคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในข้อหาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทาน เข้าไปมีส่วนได้เสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตนหรือผู้อื่น กรณีเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน จำนวน กว่า 1,419 ล้านหุ้น ส่งผลทำให้รัฐเสียหายรวมมูลค่ากว่า 6.6 หมื่นล้านบาท
เมื่อถึงเวลานัด อัยการโจทก์ เดินทางมาศาล ขณะที่ฝ่ายจำเลยไม่มีผู้ใดมาศาล ดังนั้นศาลจึงเห็นว่า จำเลยได้รับทราบ หนังสือนัดหมายการพิจารณาวันนี้แล้ว และการไม่มาถือว่าเป็นการให้การปฏิเสธ ศาลจึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับจำเลย และนัดตรวจพยานหลักฐานคู่ความ ในวันที่ 10 กรกฎาคม เวลา 09.30 น.
กรณีการแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคม เป็นภาษีสรรพาสามิต ด้วยการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพาสามิต ( พ.ศ.2527) พ.ศ.2546 เอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2551 ทั้งนี้ คดีนี้เคยถูกจำหน่ายออกจากสารบบความชั่วคราวเพราะจำเลยหลบหนีคดี และศาลฎีกาฯออกหมายจับตามขั้นตอนไปแล้ว ขึ้นมาพิจารณาต่อไป ตามกระบวนพิจารณา มาตรา 28 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (วิ. อม.) ฉบับใหม่ พ.ศ.2560 ที่มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อสำเนาคำฟ้องให้จำเลยทราบโดยชอบแล้วจำเลยไม่มาศาลและได้ออกหมายจับแล้ว ถ้าไม่สามารถจับจำเลยได้ภายใน 3 เดือนนับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะตั้งทนายความมาดำเนินการแทนตนได้ และไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะมาต่อสู้คดีเมื่อใดก็ได้ ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา