นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว ‘สมชัย ศรีสุทธิยากร Fan page‘ กล่าวถึงระบบการคำนวณคะแนนเสียงในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไปว่า คณิตศาสตร์เลือกตั้ง ตอนที่ 1 70,000 คะแนน สำหรับ ส.ส. 1 คนเอาตัวเลขง่ายๆว่า ประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงมี 50 ล้าน มาใช้สิทธิ์ร้อยละ 70 คิดเป็น 35 ล้านคน จำนวน ส.ส.ทั้งสภา มี 500 คน เอา 35 ล้านหารด้วย 500 ได้ผลคือ 70,000 เสียง. นั่นแปลว่า การคำนวณ ส.ส.ที่พึงจะมีของ พรรคการเมืองแต่ละพรรค คือ 70,000 เสียง ต่อ จำนวน ส.ส. 1 คน

นายสมชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับพรรคการเมืองใหญ่. หากท่านได้ ส.ส.เขตมา 200 คน แต่หากรวมคะแนนทั้งประเทศได้แล้วได้แค่ 14 ล้านเสียง. แปลว่าท่านจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มแม้แต่คนเดียว คะแนนที่เกิน 14 ล้าน ทุก 70,000 คน คือ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่เพิ่มขึ้น 1 คน สมมติว่าท่านได้รวมทั้งประเทศ เป็น 16.1 ล้านเสียง ที่เกินมา 2.1 ล้าน คือ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 30 คน. ทำให้ท่านได้ ส.ส.ในสภารวม 230 คน เป็นต้น

นายสมชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับพรรคการเมืองพรรคเล็ก หรือ พรรคที่ตั้งใหม่ ที่คิดว่าตั้งพรรคอยากจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อสัก 25 คน เพื่อสามารถเสนอชื่อนายกจากบัญชีของตนเองเพื่อแข่งขัน โดยไม่หวังว่าจะชนะในเขตเลือกตั้งใดเลย ท่านต้องได้คะแนนรวมจากผู้สมัครทั้งประเทศ 1.75 ล้านคะแนน และคะแนนจะได้ต่อเมื่อท่านส่งผู้สมัครลงสู้ในเขตต่างๆให้มากเขตที่สุด เพราะงวดนี้ใช้บัตรใบเดียว. ไม่ลงเขตก็ไม่มีคะแนนบัญชีรายชื่อ หากลงทุกเขต เอา 1.75 ล้านหาร 350 เขต ได้ 5,000 แปลว่า ทุกเขตต้องได้อย่างน้อย 5,000 คะแนน

ลองคำนวณค่าใช้จ่ายของพรรคเล็ก เพิ่อให้ได้ คะแนนทั้งประเทศสัก 1.75 ล้านคะแนน ค่าสมัคร เขตละ 10,000 รวม 350 เขต ก็ 3.5 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายหาเสียง พรรคใหญ่อาจจะใช้เขตละ 1.5 ล้าน พรรคเล็กอาจจะใช้ประหยัดเขตละ 100,000 รวม 350 เขต ก็ 35 ล้าน รวมๆจิปาถะต่างๆ น่าจะ 40-50 ล้าน ต่อพรรค ซึ่งยังไม่เป็นหลักประกันว่าจะได้ 5,000 คะแนนต่อเขตหรือไม่ นายสมชัย กล่าว

“ใครบอกการเมืองเป็นแค่เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่จำเป็นต้องใช้ทุน อาจต้องคิดใหม่” นายสมชัย