ประเทศราบรื่นเผยความปกติใหม่เป็นบททดสอบศักยภาพในการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจด้านพลังงานแบบครบวงจรแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รายงาน ผลการดำเนินธุรกิจไตรมาสแรกของปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายรวม 633 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 19,806 ล้านบาท) ลดลงจำนวน 66 ล้านเหรียญสหรัฐจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ประมาณ 2,065 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 9 โดยมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) รวม 134 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4,193 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากไตรมาสก่อนหน้า และมีกำไรสุทธิ 55 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,721 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “แม้วิกฤตโควิด-19 จะมีผลกระทบอย่างรุนแรงในวงกว้างในไตรมาสแรกของปี 2563 แต่บ้านปูฯ ยังคงสามารถดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ใน 10 ประเทศได้อย่างราบรื่นด้วยระบบการบริหารจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management: BCM) ที่มีประสิทธิภาพ โดยจัดเตรียมแผนปฏิบัติการในภาวะวิกฤตและเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านระบบออนไลน์ การกำหนดมาตรการให้พนักงานปฏิบัติงานจากที่พัก พนักงานของเรากว่า 6,000 คนมีความปลอดภัยและสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สอดคล้องกับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและนโยบายของรัฐบาลในทุกประเทศที่เราเข้าไปดำเนินธุรกิจ ซึ่งผลการดำเนินงานโดยรวมเป็นที่น่าพอใจ มีความพร้อมในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจต่อเนื่อง หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและปรับเปลี่ยนธุรกิจที่มีอยู่เดิมให้สอดรับกับ New Normal ที่มีผลต่อ
แนวโน้มการใช้พลังงานในอนาคต รวมทั้งการใช้พลังงานภาคประชาชนที่สูงขึ้น เพื่อให้ทำงานและใช้ชีวิตประจำวันได้จากทุกที่ และ New Normal นี้จะเป็นบททดสอบสำคัญในการสร้างการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต”เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 บ้านปูฯ ร่วมมือกับกลุ่มมิตรผลในการจัดตั้งกองทุน มูลค่า 500 ล้านบาท เพื่อช่วยสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขที่จำเป็นในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้บริจาคเงินไปแล้วกว่า 88 ล้านบาทให้กับหน่วยงานและโรงพยาบาลกว่า 30 แห่งทั่วประเทศไทย และร่วมมือกับ Muvmi เพื่อให้บริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าสำหรับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และสภากาชาดไทยในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับ FOMM ผู้นำด้านการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก (Compact EV) จากประเทศญี่ปุ่น และ Haup Car ผู้นำบริการคาร์แชร์ริ่งผ่านแอพลิเคชัน เพื่อให้บริการด้านการขนส่งแก่บุคลากรทางการเพทย์ในช่วงโควิด-19
สำหรับกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2563 การผลิตถ่านหินยังคงเดินหน้าได้ตามปกติ มีปริมาณการผลิตตามเป้าหมายที่วางไว้ ขณะที่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ มีปริมาณการขายเพิ่มขึ้น จากการบริหารจัดการด้านการผลิตและการคิดค้นวิธีการใหม่ ๆ เพื่อให้มีศักยภาพการผลิตก๊าซที่ดีขึ้น ตลอดจนการปรับเปลี่ยนสัญญาซื้อขายแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารกระแสเงินสดให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ ขณะที่ยังสามารถสร้างการเติบโตทางการผลิตได้ตามแผน ส่วนกลุ่มธุรกิจผลิตพลังงานมีการเติบโตที่ดี โดยโรงไฟฟ้าหงสาและโรงไฟฟ้าบีแอลซีพียังคงเดินเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากรายงานดัชนีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) กว่าร้อยละ 90 เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศจีนและญี่ปุ่น ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีเสถียรภาพ สำหรับกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน มีการขยายพอร์ตเทคโนโลยีพลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มในบริษัท Sunseap Group Pte. Ltd. (Sunseap) ผู้นำธุรกิจระบบผลิตไฟฟ้าบนหลังคาของสิงคโปร์ ส่งผลให้สัดส่วนการถือครองหุ้นเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 48.6 จากเดิมร้อยละ 38.5 และทำให้บ้านปูฯ มีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 760 เมกะวัตต์ (จากระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและโซลาร์ฟาร์ม) นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะนำรถยนต์ไฟฟ้าให้บริการผ่านแอพลิเคชัน รวมถึงเดินหน้าผนึกความร่วมมือกับ “บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด” (ปณท) เปิดตัวโครงการการบริหารจัดการมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เพิ่มศักยภาพการขนส่งพัสดุให้สะดวก รวดเร็ว ทั้งยังประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ด้านกลยุทธ์ในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจ ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา บริษัทฯ ดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่ายทั่วทั้งองค์กร และกลยุทธ์เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน โดยเฉพาะการบริหารกระแสเงินสดที่มีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้นขณะเดียวกัน บ้านปู ยังคงเดินหน้ามองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ในฐานะบริษัทพลังงานครบวงจรที่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหรือนวัตกรรมพลังงานที่สามารถตอบสนองทุกความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า ตอบโจทย์ New Normal ที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งก้าวไปพร้อมกับเทรนด์ด้านพลังงานแห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็นระบบ กักเก็บพลังงานเพื่อเป็นแหล่งสำรองไฟฟ้า ระบบไมโครกริดเพื่อช่วยลดค่าไฟฟ้า โมไบล์แอปสำหรับตรวจสอบการทำงานของแผงโซลาร์เซล การใช้เทคโนโลยีเอไอในการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ และการพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน เป็นต้น
“เหตุการณ์วิกฤตโควิดในครั้งนี้ทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมรับมือกับวิกฤตการณ์และ New Normal ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผู้มีส่วนได้เสียได้อย่างต่อเนื่อง วัฒนธรรมองค์กร “บ้านปู ฮาร์ท” ของเราก็ช่วยหล่อหลอมให้พนักงานมุ่งมั่นยืนหยัดที่จะร่วมมือกันหาวิธีรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างยั่งยืน รวมถึงการสร้างพลังร่วม (Synergy)
ที่มีความสำคัญต่อองค์กรมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นตัวผลักดันให้ผู้บริหารและพนักงานทุกคนในองค์กรมีแรงใจร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้”
นางสมฤดี กล่าวปิดท้าย