วันที่ 12 พ.ค.63 : ผู้สื่อข่าวรายงานเกี่ยวกับปัญหาในวงการตลาดหลักทรัพย์ของบริษัท อินเตอร์ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC ที่มีผู้ถือหุ้นสามัญกว่า 20,000 ราย ล่าสุด ผู้ถือหุ้นสามัญและผู้ถือหุ้นกู้ IFEC ได้ออกมาทวงถามความคืบหน้ากรณีที่ผู้ถือหุ้นสามัญและผู้ถือหุ้นกู้ IFEC ได้ยื่นหนังสือต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้คณะกรรมการและแต่งตั้งผู้สอบบัญชีบริษัทแห่งหนึ่งที่เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชี โดยมีการอนุมัติค่าตอบแทนให้กับผู้สอบบัญชี 48 ล้านบาท รวมจำนวน 4 ปี เฉลี่ยปีละ12 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับบริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัทนั้น IFEC มีการจัดจ้างผู้สอบบัญชีมากกว่าบริษัทอื่นถึง 6 เท่า โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ออกหนังสือแจ้งเตือนมายังบริษัทหลายต่อหลายครั้ง และมีกำหนดขีดเส้นตายว่า IFEC จะต้องแต่งตั้งผู้สอบบัญชีประจำปี 2560-2562 ภายในวันที่ 30 เม.ย.63 ที่ผ่านมาและจะต้องนำส่งงบฯ ให้ได้ภายในปลายปี 2563
น.ส.เยาวลักษณ์ ฤทธิ์สมจิตต์ ตัวแทนผู้ถือหุ้นของ IFEC เปิดเผยว่า ผู้ถือหุ้นสามัญและผู้ถือหุ้นกู้ IFEC ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังตลาดหลักทรัพย์ และ ก.ล.ต.ในประเด็นการตั้งผู้สอบบัญชีที่มีค่าใช้จ่ายถึง 48 ล้านบาทโดยไม่ผ่านมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้นนั้น มีความถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เพราะถ้าหากไม่ผ่านมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้นรับรอง การกระทำดังกล่าวอาจจะผิดเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์ มาตรา 120 ที่กำหนดให้มีการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีและการกำหนดค่าจ้างเป็นอำนาจของที่ประชุมผู้ถือหุ้นเท่านั้นเท่ากับว่าผู้ถือหุ้นจะต้องมีภาระหนี้เพิ่มจากการให้ค่าตอบแทนที่ผู้บริหารกำหนดให้ผู้สอบบัญชีในราคาแพงเกินจริง
ทั้งนี้ ยังไม่มีสัญญาณใดๆ จากตลาดหลักทรัพย์ และ ก.ล.ต. ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาที่ผู้บริหารชุดปัจจุบันได้เริ่มก่อให้เกิดข้อกังขากับทั้งผู้ถือหุ้นและกลุ่มเจ้าหนี้เลย มาตรฐานของทางตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ไหน มาตรการจัดการกับผู้ที่ทุจริตจะทำอย่างไร ในเมื่อกรรมการบริษัทไม่เริ่มแก้ปัญหาอย่างจริงจัง คนที่เจ็บหนักสุดก็คงเป็นผู้ถือหุ้นเท่านั้น
ด้าน นายสรยุทธ ตามรภาค หนึ่งในผู้ถือหุ้นสามัญและผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งได้รับผลกระทบตั้งแต่ที่ได้เข้าไปซื้อหุ้นกู้ กล่าวว่า ได้ทำหนังสือร้องเรียนเพื่อสอบถามไปยังตลาดหลักทรัพย์ว่า การกำหนดอัตราค่าจ้างสอบบัญชีของบริษัท IFEC มีค่าจ้างสูงเกินกว่ามาตรฐานทั่วไปที่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ว่าจ้างกัน คือ สูงถึง 48.3 ล้านบาท อีกทั้งบริษัทไม่นำส่งงบการเงินมากว่า 1,100 วัน หรือ 15 ไตรมาส ตลาดหลักทรัพย์ยังวางเฉยไม่สนใจว่า ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการลงทุนใน IFEC จะไม่มีสิทธิ์รับรู้ถึงผลการดำเนินการที่ตั้งค่าใช้จ่ายของผู้สอบบัญชีจำนวนมหาศาลของคณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งเป็นการเอาเปรียบเจ้าหนี้อย่างมากและตลาดหลักทรัพย์จะมีมาตรการดำเนินการตามกฎเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้อย่างไรหากทำได้เพียงแค่ขู่ผู้บริหารเท่านั้น