นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ ศบค. กำหนดกรอบอำนาจตามมาตรา 9 ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยให้กรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการเป็นผู้กำหนดรายละเอียด รวมถึงให้กระทรวงการต่างประเทศ รวบรวมรายชื่อคนไทยที่ตกค้างและต้องการเดินทางกลับ เพื่อได้จำนวนที่ชัดเจนเพื่อเตรียมสถานที่รองรับต่อไป
ส่วนของการผ่อนคลายมาตรการ ได้มอบหมายให้สำนักงานกลาง กระทรวงสาธารณะสุขและที่ปรึกษาด้านธุรกิจ ร่วมกันกำหนดหลักการ เพื่อบังคับใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยทั้งหมดต้องยึดปัจจัยตามที่กระทรวงสาธารณสุขและปัจจัยอื่นๆมาประเมินสถานการณ์ร่วมกันด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ยังมอบหมายให้พิจารณา ประเภทกิจกรรมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และมีการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรคหากควบคุมโรคได้จะมีการผ่อนปรนต่อ แต่หากควบคุมไม่ได้ก็จะสั่งปิดทันที ซึ่งในมาตรการผ่อนคลายจะต้องมีการเร่งตรวจเชื้อกลุ่มอาชีพเสี่ยงแรงงานต่างด้าว
ทั้งนี้ นางนฤมล กล่าวว่า ขอให้ประชาชนฟังประกาศจากทาง ศบค. อย่างเป็นทางการ ว่ากิจการประเภทใดบ้างที่สามารถเปิดทำการได้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป
ครม.มติอนุมัติจ่ายเยียวยาเพิ่มไม่เกิน 16 ล้านคน
นางนฤมล ยังกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มเติมเป็นไม่เกิน 16 ล้านคน จากเดิม 14 ล้านคน งบประมาณ 240,000 ล้านบาท ซึ่งเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รวมจำนวนไม่เกิน 70,000 ล้านบาท และพ.ร.ก.เงินกู้ จำนวน 170,000 ล้านบาท โดยจ่ายเงินช่วยเหลือโดยตรงรายละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563 – 30 มิถุนายน 2563
รวมถึงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีการจ่ายเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2563 โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือเกษตรกรไม่เกิน 10 ล้านราย ประกอบด้วย เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง จำนวน 8.43 ล้านราย และเกษตรกรที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียน ไม่เกิน 1.57 ล้านราย รวมวงเงินของโครงการไม่เกิน 150,000 ล้านบาท