นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรีเรื่องขยายความครอบคลุมผู้ประกันตนมาตรา 33 ว่างงานจาก “เหตุสุดวิสัย” เพื่อให้ผู้ประกันตน ที่ว่างงานจากผลกระทบจากโควิด-19 สามารถได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 62% ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน รวมทั้งมีการเพิ่มเงินทดแทนกรณีว่างงาน โดยกรณีลาออกปรับเพิ่มเป็น 45% 90 วัน และกรณีถูกเลิกจ้างปรับเพิ่มเป็น 70% 200 วัน ซึ่งจริงๆ แล้วถือเป็นข่าวดีมากๆ ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวน 11.7 ล้านคน ว่า ในทางปฏิบัติ พบว่ามีการจ่ายชดเชยได้ล่าช้ามาก ซึ่งเบื้องต้นพบปัญหา 3 ประเด็น ดังนี้ 1. เอกสารจากประกันสังคมที่ระบุว่า “กรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว เนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษกิจ/โรคโควิด-19/นายจ้างไม่ให้ทำงาน ไม่ถือว่า เป็นเหตุสุดวิสัยตามกฎหมาย ซึ่งขัดกับกฎกระทรวงที่กำหนดให้นิยามของคำว่า “เหตุสุดวิสัย” นั้นครอบคลุมถึง ภัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 2.ข้อจำกัดของระบบ IT ของประกันสังคม ที่มีความล้าหลังของระบบ IT ที่ชื่อว่า SAPIENS ที่รัฐบาลต้องเร่งปรับปรุงอย่างเร่งด่วน 3: มาตรการที่ชัดเจน ในกรณีที่นายจ้างไม่ยอมมารับรองสิทธิให้ลูกจ้าง ปัญหานี้ กระทรวงแรงงงานคงต้องกำหนดมาตรการให้ชัดเจน กับนายจ้างที่ไม่ยอมมารับรองสิทธิให้แก่ลูกจ้าง
นอกจากนี้รัฐบาล และประกันสังคม จะต้องวางแผนเงินกองทุนประกันสังคมที่มีอยู่ 2,177,473 ล้านบาท ซึ่งมีการจัดสรรเป็นกองทุนทดแทนการว่างงานอยู่ทั้งสิ้น 181,641 ล้านบาท เงินส่วนนี้จะใช้เป็นกำลังหลักในการเยียวยาปัญหาการว่างงานให้กับผู้ประกันตน ทั้งในตอนนี้ และในอนาคต