หน้าแรกการเมือง"พรรคก้าวไกล" เห็นด้วยเยียวยาปชช.นอกระบบประกันสังคม

“พรรคก้าวไกล” เห็นด้วยเยียวยาปชช.นอกระบบประกันสังคม

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ขยายตัวไปในวงกว้าง ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อการดำรงชีวิตมากที่สุด ก็คือ กลุ่มแรงงานนอกระบบประกันสังคม ซึ่งประกอบไปด้วย แรงงานรับจ้างทั่วไป ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานรายวัน พ่อค้าแม่ขาย และผู้ประกอบอาชีพอิสระ ว่า พรรคก้าวไกล เห็นด้วยที่รัฐบาลออกมาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” ในการเยียวยาแรงงานนอกระบบ รายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน จำนวนทั้งสิ้น 3 ล้านคน ในวงเงิน 45,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ในวงเงินงบประมาณ 45,000 ล้านบาท นั้นอาจจะไม่เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชนในกลุ่มแรงงานนอกระบบได้ หากพิจารณาจากข้อมูลจำนวนแรงงานทั้งหมดในปัจจุบันที่มีอยู่ 38.4 ล้านคน มีแรงงานอกระบบอยู่ทั้งสิ้น 18.7 ล้านคน โดยแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากโควิด-19 ก็คือ แรงงานนอกระบบในภาคบริการ และภาคการผลิต ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 9.5 ล้านคน และเมื่อรวมกับแรงงานในระบบประกันสังคม รวมถึงแรงงานในระบบประกันสังคม ที่ยังส่งเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน ซึ่งยังไม่ได้รับสิทธิการคุ้มครองการว่างงาน) อีกประมาณ 5 ล้านคนเศษ นั่นหมายความว่า จำนวนประชาชนทั้งหมด ที่อยู่ในกลุ่มที่ต้องการการเยียวยามีทั้งสิ้นประมาณ 14.5 ล้านคน แต่มาตราการนี้จะสามารถเยียวยาประชาชนได้เพียงจำนวน 3 ล้านคน หรือเพียง 20.7% เท่านั้น และยังเหลือประชาชนอีก 11.5 ล้านคน ที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา และข้อสังเกตคือ การจัดพิจารณาว่าประชาชนคนใดที่สมควรได้รับการเยียวยา ซึ่งระยะเวลา5วันที่ให้ลงทะเบียนและรอการอนุมัติ ว่ามีสิทธิที่ได้รับเงินนั้นสำหรับประชาชนถือว่ายาวนานมาก

ทั้งนี้ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกลยังกล่าวถึง การนำงบกลาง 96,000 บาท ที่ประชาชนมีความสงสัยว่าได้นำมาช่วยแก้ปัญหาไวรัสโควิด-19 หรือไม่ ว่า จากการตรวจสอบพบว่ารัฐบาลได้ใช้งบกลางในรายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นดังกล่าว ไปแล้วทั้งสิ้น 94,029 ล้านบาท ซึ่งต้องยอมรับว่าปัจจุบัน “งบกลาง” นั้นมีไม่เพียงพอแล้วจริงๆ

ดังนั้น พรรคก้าวไกล จึงขออนุญาตเสนอแนะเชิงสนับสนุนรัฐบาล ดังนี้

1.รัฐบาลควรพิจารณาออกพระราชกำหนดโอนงบประมาณ จากงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยให้พิจารณาจากทุกๆ รายการที่ไม่ใช่รายจ่ายประจำ เพื่อตัดงบประมาณจากโครงการเหล่านั้นออก ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่า หากรัฐบาลหารือกับสำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลางอย่างละเอียด น่าจะสามารถโอนงบประมาณได้ไม่น้อยกว่า 80,000 ล้านบาท

2.ให้รัฐบาลพิจารณาออกพระราชกำหนดเงินกู้จำนวนทั้งสิ้น 200,000 ล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอที่จะเตรียมความพร้อมด้านการสาธารณสุขได้อย่างเต็มที่ และจัดสรรเงินเยียวยาให้กับประชาชนได้อย่างครอบคลุม

3.เสนอให้รัฐบาลเสนอเปิดสมัยประชุมวิสามัญ เพื่อให้รัฐสภาอนุมัติ พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เพื่อจัดสรรงบประมาณในการรับมือกับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ เล็งเห็นผล ที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชนเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกล จึงขอส่งข้อเสนอแนะเชิงสนับสนุน ให้กับรัฐบาลได้พิจารณา และเข้าใจถึงความปรารถนาดีของพรรคก้าวไกล ที่พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาล เพื่อช่วยกันนำพาให้ประชาชนได้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์นี้ ไปได้ร่วมกัน

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img