“อุตตม” เตือน รบ.ดูความพร้อมคลังให้ดีก่อนไปเจรจาทรัมป์ ชี้หากไม่ปฏิรูประบบคลังอีก 10 ปีหนี้สาธารณะอาจแตะ 90%

251

ที่พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) วันที่ 22 เม.ย. นายอุตตม สาวนายน อดีต รมว.คลัง ในฐานะประธานกรรมการนโยบายพรรคพลังประชารัฐ แถลงข่าวถึงกรณีที่รัฐบาลไทยเตรียมส่งตัวแทนนำทีมโดยนายพิชัย ชุรหวชิร รองนากยรัฐมนตรี และรมว.คลัง ไปเจรจาการค้ากับรัฐบาลสหรัฐหลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศ ขึ้นภาษีตอบโต้ไทยในอัตราร้อยละ 36 ว่า รัฐบาลต้องคำนึงถึงความพร้อมของฐานะทางการคลังของประเทศต่อนโยบายทรัมป์ 2.0 เช่น พื้นที่ทางการคลังของไทยพร้อมที่จะรับมือความไม่แน่นอนหรือไม่ เพราะนโยบายทรัมป์มีแนวโน้มก่อให้เกิดความปั่นป่วนทางการค้า การเงิน และภูมิรัฐศาสตร์ ไทยจำเป็นต้องมีพื้นที่ทางการคลังที่เพียงพอเพื่อรองรับแรงกระแทกจากภายนอก

นายอุตตม กล่าวว่า ตัวชี้วัดสำคัญที่กำลังสะท้อนความเปราะบางทางการคลังของไทยมีอยู่ 6 ข้อ 1.รายได้สุทธิต่อ GDP เฉลี่ยอยู่ที่เพียง 14.87% GDP (2564-2568) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาที่ 18-20% (รายงานความเสี่ยงทางการคลัง/สศค.) สะท้อนความสามารถจัดเก็บภาษีที่อ่อนแอ ส่งผลให้รัฐอาจไม่มีงบประมาณเพียงพอรองรับภาวะฉุกเฉิน และต้องพึ่งการกู้เงินมากขึ้นเมื่อเผชิญวิกฤต 2.สัดส่วนงบประมาณที่ปรับลดได้ยากในปี 2568 สูงเกือบถึง 70% งบประมาณ (เพิ่มจาก 62.72% ในปี 2564) ทำให้เหลืองบลงทุนหรืองบกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยลง ลดความสามารถในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ (รายงานความเสี่ยงทางการคลัง/สศค.) ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายที่ปรับลดได้ยากประกอบไปด้วย รายจ่ายสวัสดิการประชาชน เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ รายจ่ายสวัสดิการบุคลากรภาครัฐ เช่น ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ เงินบำเหน็จบำนาญ  รายจ่ายเงินเดือน เงินสมทบ และค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ และรายจ่ายเพื่อชำระหนี้และภาระผูกพันต่างๆ เช่น งบลงทุนผูกพันข้ามปี

อดีต รมว.คลังกล่าวว่า 3.สัดส่วนภาระดอกเบี้ยจากหนี้สาธารณะต่อรายได้ปี 2568 อยู่ที่ 9%และจะเพิ่มขึ้นเป็น 12.2 % ในปี 2569 ข้อมูลจากสำนักวิเคราะห์งบประมาณของรัฐสภา เสียงถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ และอาจเพิ่มต้นต้นการกู้เงินในอนาคต ทำให้ดอกเบี้ยสูงขึ้นทั้งระบบ ขณะที่แนวปฏิบัติสากลที่หลายประเทศยึดถือIMF กำหนดไว้ที่ 15 เปอร์เซนต์ 4.สัดส่วนการขาดดุลงประมาณต่อ GDP ปี 2568 อยู่ที่ -4.5% และปี 2569 จะอยู่ที่ -4.3% (แผนการคลังระยะปานกลาง) ซึ่งสูงกว่าระดับที่มีเสถียรภาพทางการคลัง ซึ่งการขาดดุลไม่ควรเกินร้อยละ 3 หากขาดดุลสูงอย่างต่อเนื่องจะทำให้หนี้พุ่งเร็ว เสี่ยงผิดวินัยการคลัง และเสียความเชื่อมั่นจากนักลงทุน ข้อมูลสำนักวิเคราะห์งบประมาณ/แผนการคลังของรัฐบาลระบุพยายายามลดการขาดดุลลง

นายอุตตมา กล่าวว่า 5.ปี 2568 รัฐบาลกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 865,700 ล้านบาท (23.07% งบประมาณ) เกือบชนวงเงินกู้สูงสุด ซึ่งกำหนดไว้ที่ 970,768 ล้านบาท หากเกิดวิกฤติ รัฐจะไม่มีช่องว่างทางกฎหมายให้กู้เพิ่มเพื่อเยียวยาหรือ กระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 กำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลไว้สูงสุด 1.ไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี รวมกับ 2.ไม่เกิน 80% ของงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้สำหรับชำระคืนเงินต้น และ 6.สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาล (ต้นเงิน + ดอกเบี้ย) ต่อรายได้ประจำปีงบประมาณ อยู่ที่ 35.14% โดยเพดานกำหนดไว้ที่ไม่เกินร้อยละ 35 (แผนการคลังระยะปานกลาง) เป็นสัญญาณเตือนด้านวินัยการคลัง จะเบียดงบพัฒนา งบลงทุน และสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการคลังในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม นายอุตตม ยังได้เสนอแนะการจัดงบประมาณปี 2569 ไปยังรัฐบาลว่า ต้องจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณ โดยให้ความสำคัญกับโครงการที่สร้าง “ภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ” เช่นการพัฒนาทักษะแรงงาน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กในภูมิภาค และการเสริมความสามารถในการแข่งขันของ SMEs รวมถึงต้องจัดงบพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เสริมความเข้มแข็งชุมชน ยกระดับขีดความสามารถผลิตสินค้าบริการป้อนตลาดในประเทศ และสอดคล้องกับห่วงโซ่อุปทานใหม่ในตลาดโลก เพื่อสนับสนุนภาคการส่งออก

“วันนี้หนี้สาธารณะอยู่ที่ 64.21%GDP (4/2568) ซึ่งกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP Research) ประเมินว่าอาจแตะ 70% ใน 2 ปีข้างหน้า และอาจแตะระดับ 80-90% ในอีก 10 ปีข้างหน้า หากไม่มีการปฏิรูปการคลังภาครัฐอย่างจริงจัง”นายอุตตม กล่าว