เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 ที่ห้องประชุม 100 ปี ชั้น 4 สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา, นายพรชัย ชลวาณิชกุล, นายอิทธิพร แก้วทิพย์, นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา และนายเชาว์ บุญฤทธิ์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 พร้อมด้วย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร., พ.ต.อ.สมควร พึ่งทรัพย์ รอง ผบก.ปราบปราม และคณะพนักงานสอบสวนคดีระเบิดหน้าป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ป้ายสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และพื้นที่ กทม. – อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2562 ร่วมแถลงข่าวภายหลังส่งมอบสำนวนการสอบสวน หลักฐานจำนวน 4 ลัง เอกสารกว่า 13,000 หน้า พยานกว่า 250 ปาก พร้อมความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา 21 คน ข้อหาอั้งยี่-ซ่องโจร, ร่วมกันก่อการร้าย และข้อหาอื่นๆ ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 รวม 11 ข้อหา
โดย “พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข” รอง ผบ.ตร กล่าวว่า เรื่องนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 2 เดือน เจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 100 นาย ร่วมกันสืบสวนสอบสวน โดยเอกสารหลักฐานในสำนวนก็มีจำนวน 13,000 แผ่น สืบพยานไป 250 กว่าปาก ซึ่งสำนวนนี้มีผู้ต้องหา ทั้งหมด 21 คน แต่มีจำนวน 18 คน หลบหนีออกนอกประเทศ
ผู้สื่อข่าวถามถึงคดีนี้เกี่ยวข้องกับด้านความมั่นคงเรื่องแบ่งแยกดินแดนของกลุ่มก่อความไม่สงบรายใด หรือเป็นกลุ่มการเมือง รอง ผบ.ตร. ระบุว่า ขอให้มั่นใจในการรวบรวมพยานหลักฐานเราจะทำทุกช่องทางเท่าที่ทำได้ ส่วนกรณีจะเกี่ยวพันกับด้านความมั่นคงหรือการเมืองอย่างไรนั้น อาจพูดไม่ได้ชัดนัก เพราะเป็นประเด็นที่จะต้องต่อสู้กันในชั้นศาล ตนจึงขอสงวนการตอบถึงข้อมูลนี้ก่อน
ขณะที่ “นายสิงห์ชัย” อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา กล่าวว่า คดีนี้มีการกระทำความผิดในพื้นที่นอกราชอาณาจักรด้วย ดังนั้นขั้นตอนในการสั่งคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 ให้อำนาจอัยการสูงสุด เป็นผู้สั่งคดี ดังนั้นเมื่อวันนี้ได้รับมอบสำนวนแล้ว ก็จะส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดผ่านทางสำนักงานคดีอัยการสูงสุดต่อไป โดยในส่วนของสำนักงานคดีอาญา ก็ได้ตั้งคณะทำงาน 6 คน ในสำนักงานคดีอาญา 6 ที่มีนายพรชัย ชลวาณิชกุล รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ซึ่งจะดูแลในส่วนของการร่างคำฟ้อง หากอัยการสูงสุดมีความเห็นทางคดีออกมาว่าสั่งฟ้อง
ด้าน “นายพรชัย” รองอธิบดีอัยการคดีอาญา กล่าวว่า แม้ว่าระยะเวลาการควบคุมผู้ต้องหา จะมีระยะเวลาการฝากขังในส่วนของผู้ต้องหา 3 คน จาก 21 ราย เหลืออีกเพียง 12 วัน แต่ก็มั่นใจว่าจะพิจารณาสำนวนทั้งหมดได้ทันตามกรอบระยะเวลา โดยวันนี้ก็จะส่งสำนวนเอกสารทั้งหมดให้อัยการสูงสุดผ่านสำนักงานคดีอัยการสูงสุด อย่างไรก็ดี ผู้ต้องหาทั้ง 3 คน ได้ถูกคุมตัวมาแล้ว 6 ผลัด ทั้งนี้หลังพิจารณาสำนวนอย่างถี่ถ้วนแล้วจะแถลงความคืบหน้ากับสื่อมวลชนต่อไป
ส่วน “พ.ต.อ.สมควร พึ่งทรัพย์” รอง ผบก.ป. เปิดเผยว่า คดีนี้คนร้ายมีพฤติการณ์ร่วมกันทำให้เกิดระเบิด สืบเนื่องจากเหตุการณ์ ระเบิดที่หน้าป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีเหตุการณ์ต่อเนื่องในพื้นที่ กทม. และ ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ซึ่งพนักงานสอบสวน สรุปสำนวนได้ 18 คดี ประกอบด้วยพื้นที่ สน.ปทุมวัน 4 คดี, ยานนาวา 2 คดี, พญาไท 7 คดี, ทุ่งสองห้อง 4 คดี และ ปากเกร็ด 1 คดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 21 รายนั้น ถูกแจ้งข้อหาอั้งยี่และซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209, 210 นอกจากนี้ ผู้ต้องหาที่ 1 – 15, 20 ยังถูกแจ้งข้อหาร่วมกันก่อการร้าย, ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ร่วมกันพยายามกระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น, ร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น, ร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ทรัพย์ของผู้อื่นและโรงเรือนอันเป็นที่เก็บสินค้า, ร่วมกระทำให้เกิดระเบิดเป็นเหตุให้บุคคลอื่นรับอันตรายสาหัส, พาอาวุธ (ระเบิด) ไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควร, ร่วมกันทำ ใช้ มีไว้ซึ่งวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ และมียุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต อีก 9 ข้อหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1, 289 (4), 221, 222 ประกอบมาตรา 217, 218, 224 วรรคสอง, 371, พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ มาตรา 38, 74 และ พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 มาตรา 15, 42
ส่วนผู้ต้องหาที่ 16-20 มีความเห็นสมควรสั่งฟ้องอีก 6 ข้อหา ฐานใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานก่อการร้าย, ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ร่วมกันพยายามกระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น, ร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น, ร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ทรัพย์ของผู้อื่นและโรงเรือนอันเป็นที่เก็บสินค้า และร่วมกระทำให้เกิดระเบิดเป็นเหตุให้บุคคลอื่นรับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 135/1, 289 (4), 221, 222 ประกอบมาตรา 217, 218, 224 วรรคสอง
โดยในส่วนของผู้ต้องหาขณะนี้มี 3 คน ที่อยู่ในอำนาจการฝากขังของศาลคือ นายลูไอ แซแง ผู้ต้องหาที่ 1, นายวิลดัน มาหะ ผู้ต้องหาที่ 2 และนายมูฮัมมัดอิลฮัม สะอิ ผู้ต้องหาที่ 21 (อยู่ระหว่างถูกคุมขังที่เรือนจำชั่วคราวแขวงทุ่งสองห้อง) ส่วนผู้ต้องหาที่ 3 – 20 รวม 18 คนนั้น หลบหนีออกนอกประเทศ แต่ได้ขอศาลอาญาออกหมายจับไว้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 17-18 ก.ย. 2562 โดยคดีมีอายุความในการติดตามตัวมาฟ้องคดี 20 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างการติดตาม ตามขั้นตอนของกฎหมาย เบื้องต้นผู้ต้องหาทั้งหมดมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
สำหรับรายชื่อผู้ต้องหาทั้งหมด ประกอบด้วย นายลูไอ แซแง ผู้ต้องหาที่ 1, นายวิลดัน มาหะ ผู้ต้องหาที่ 2, นายอุสมัน ลาเตะ ผู้ต้องหาที่ 3, นายฮาซัน อาแว ผู้ต้องหาที่ 4, นายนัสรู มะประสิทธิ์ ผู้ต้องหาที่ 5, นายฮาแซ แบเล๊าะ ผู้ต้องหาที่ 6, นายมะยูโซะ หะยีสามะ ผู้ต้องหาที่ 7, นายฮากีม ปุนยัง ผู้ต้องหาที่ 8, นายอัสมี อาบูวะ ผู้ต้องหาที่ 9, นายอุสมาน เปาะลอ ผู้ต้องหาที่ 10, นายอัมรี มะมิง ผู้ต้องหาที่ 11, นายศรัทธา อาแว ผู้ต้องหาที่ 12, นายอุสมาน เจ๊ะเต๊ะ ผู้ต้องหาที่ 13, นายสุกรี ดือรามัน ผู้ต้องหาที่ 14, นายมะยากี มะลาชิง ผู้ต้องหาที่ 15, นายมะนูเด็น สามะ ผู้ต้องหาที่ 16, นายมูฮำมัดอาดีลัน สาและ ผู้ต้องหาที่ 17, นายอารีฟ มะเซ็ง ผู้ต้องหาที่ 18, นายซุลกิฟลี มะสาแมง ผู้ต้องหาที่ 19, นายรอแปะอิง อุเซ็ง ผู้ต้องหาที่ 20 และนายมูฮัมมัดอิลฮัม สะอิ ผู้ต้องหาที่ 21