คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด นายวิรัช และนางทัศนียา รัตนเศรษฐ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับพวก รวม 24 ราย กรณีทุจริตในการจัดสรรงบประมาณเพื่อทำการก่อสร้างสนามฟุตซอล ในเขต 2 จังหวัดนครราชสีมา จากงบแปรญัตติ เอื้อประโยชน์พวกพ้อง
นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีทุจริตในการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย งบประมาณ พ.ศ.2555 (งบแปรญัตติ) ให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างงานปรับปรุงสนามกีฬาพร้อมอุปกรณ์ (สนามฟุตซอล) ที่ไม่ให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้เสนอราคารายใดรายหนึ่ง และการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานตามรูปแบบรายการและวิธีการก่อสร้าง สนามกีฬาไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
ซึ่งจากการไต่สวนข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐาน ปรากฏว่า ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ร่วมกันทุจริตเชิงนโยบาย โดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ และเอกชนร่วมดำเนินการอย่างเป็นระบบและเป็นกระบวนการ โดยทุจริตตั้งแต่ขั้นตอนการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบประมาณปี พ.ศ.2555 (งบแปรญัตติ) ให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดอื่น รวมจำนวน 18 จังหวัด วงเงินประมาณ 4,459,420,000 บาท ใน 2 โครงการหลัก หนึ่งในนั้นคือ โครงการก่อสร้างสนามกีฬาฟุตซอล รวมถึงมีการวางแผนในการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอีกหลายประการ เพื่อให้กลุ่มเอกชนที่เป็นพรรคพวกของตนเองได้เข้าเป็นคู่สัญญา และการก่อสร้างสนามกีฬาฟุตซอลไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงตรงตามวัตถุประสงค์
โดยในช่วงที่มีการจัดทำงบประมาณปีงบประมาณ 2555 นายวิรัช รัตนเศรษฐ นางทัศนียา รัตนเศรษฐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น และนางทัศนาพร เกษเมธีการุณ นายกเทศมนตรีตำบลห้วยแถลงขณะนั้น ซึ่งเป็นน้องสาวนางทัศนียา รัตนเศรษฐ ได้สั่งการให้พวกของตนเข้าไปประสานกับผู้อำนวยการโรงเรียนต่างๆ ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 2 เพื่อจัดสรรงบประมาณก่อสร้างสนามฟุตซอลให้ โดยเข้าไปครอบงำ บงการการใช้จ่ายงบประมาณในวงเงินดังกล่าว โดยปราศจากอำนาจตามกฎหมาย
ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวข้างต้นของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 2 แล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 9 เสียง ชี้มูลผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 24 ราย ประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 3 ราย ข้าราชการ 11 ราย เอกชน 10 ราย (บุคคลธรรมดา 7 ราย นิติบุคคล 3 ราย) มูลค่าความเสียหายทั้ง 6 โรงเรียน ประมาณ 15,000,000 บาท โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะให้ส่งสำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็น พร้อมสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และส่งสำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัย ไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 76 และมาตรา 91 (2) แล้วแต่กรณี ในส่วนที่เหลือของจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 6 เขต 50 โรงเรียน และจังหวัดอื่นๆ อีก 17 จังหวัด ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ