ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด) มหาชน กล่าวว่า อีไอซีปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562 ลงมาอยู่ที่ 3.6% จากประมาณการเดิมที่ 3.8% โดยเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวมากกว่าคาดและมีลักษณะ synchronized slowdown มากขึ้น ซึ่งเป็นผลมากจากสงครามการค้าและภาวะการเงินโลกที่ที่ตึงตัวขึ้นโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2561 ที่ยังคงส่งผลลบอย่างต่อเนื่องต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ในช่วง 2 เดือนแรกของปี สัดส่วนของตลาดส่งออกที่มูลค่าการส่งออกของไทยหดตัวเพิ่มขึ้นมาเป็นกว่า 70% ของตลาดส่งออกรวม อีไอซีจึงปรับลดประมาณการการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกลงเหลือ 2.7% จากเดิมที่ 3.4% อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีแรงสนับสนุนที่สำคัญจากภาคการท่องเที่ยวที่มีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวเร็วขึ้นกว่าที่คาด ทำให้อีไอซีปรับประมาณการนักท่องเที่ยวปีนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 40.7 ล้านคน หรือ คิดเป็นอัตราการเติบโตที่ 6.3 % จากเดิม 40.2 ล้านคน รวมทั้งการลงทุนก่อสร้างภาครัฐซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการต่อเนื่องที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนมากถึง 7.6 แสนล้านบาทในปีนี้ หรือคิดเป็นการขยายตัวกว่า 7% ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวได้มาจากการจ้างงานและค่าจ้างแรงงานที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐบาล อย่างไรก็ดี การบริโภคในส่วนของสินค้าคงทนมีแนวโน้มชลอตัวลงจากปีก่อนหน้า จากปัจจัยฐานสูงของการซื้อรถยนต์ ในปี 2561 และผลกระทบของมาตราการ macroprudental ที่ทางการทยอยออกมาเพื่อดูแลการก่อหนี้ครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
ด้านทิศทางนโยบายการเงิน อีไอซี คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อัตรา 1.75% ตลอดทั้งปี 2562 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยทีแนวโน้มชะลอตัวมากกว่าที่ กนง. เคยคาด มาจากความไม่นอนทั้งภายนอกและภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ในส่วนของทิศทางค่าเงินบาทคาดว่าจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากสิ้นปีที่แล้ว โดย สิ้นปี 2562 จะอยู่ในช่วง 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากการที่ค่าเงินดอลลาร์ ฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงในปี 2562 จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ dovish มากขึ้น ประกอบกับเสถียรภาพเศรษฐกิจด้านต่างประเทศที่เข้มแข็งของไทยสะท้อนจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มเกินดุลต่อเนื่องที่ประมาณ 6.4% ต่อ GDP ทั้งนี้ความเสี่ยงที่ค่าเงินบาทอาจจะอ่อนค่าจะมาจากภาวะการเงินโลกที่กลับมาตึงตัวเร็วกว่าคาดและปัญหาเสถียรภาพการเมืองในประเทศที่สำคัญซึ่งความไม่แน่นอนทางการเมืองยังมีอยู่สูงถึงแม้การเลือกตั้งจะผ่านไปแล้วก็ตาม รวมทั้งผลการเลือกตั้งของกลุ่มพรรคการเมือง 2 ขั้วจะได้จำนวนสมาชิกผู้แทนราษฎรที่ใกล้เคียงกันจึงทำให้มีโอกาสสูงที่รัฐบาลใหม่จะเป็นรัฐบาลผสมที่มีเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฏรมากฝ่ายค้านไม่มากนัก ซึ่งจะมีนัยต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและประสิทธิภาพในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยอาจจะมีผลทำให้เกิดการชะลอการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนเพื่อรอดูความชัดเจนของพัฒนาทางการเมืองก่อน