นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เดินทางมายื่นเอกสารเพิ่มเติมคำร้องที่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ขาดคุณสมบัติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายฯ ของพรรคพลังประชารัฐ
โดยในวันนี้ได้นำคำสั่งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เมื่อปี 2550 ที่ กกต.ได้ถอนชื่อผู้สมัคร ส.ส.นราธิวาส ซึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราวใน รร.ทางภาคใต้ ซึ่งผู้สมัครเป็นเพียงแค่วิทยากร แต่ กกต.ก็ร้องค้านว่าเข้าข่ายลักษณะเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และไม่ประกาศรับรองให้เป็นผู้สมัคร และผู้สมัครคนดังกล่าวก็คัดค้าน แต่ศาลก็วินิจฉัยว่าบุคคลดังกล่าวซึ่งเป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราวมีชั่วโมงการทำงานถือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ จึงไม่ประกาศคืนสิทธิ และอีกประเด็นคือการให้สัมภาษณ์ของ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะโฆษกพรรค ที่ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาดูแลนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งถือว่าเป็นการสารภาพว่าพรรคพลังประชารัฐ มี พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาชี้นำ จึงขอให้ กกต.ไปเรียกพยานที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการสอบสวน
ทั้งนี้ นายเรืองไกร ยังกล่าวด้วยว่า กรณีการเปิดคลิปปราศรัยของ พล.อ.ประยุทธ์ บนเวทีปราศรัยของพรรคพลังประชารัฐ ที่ จ.สุโขทัย ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ปราศรัยโดยมีเนื้อความตอนหนึ่งว่า “ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อประเทศชาติ และพรรคพลังประชารัฐ” ซึ่งการนำคลิปดังกล่าวมาเปิดบนเวทีปราศรัย ถือว่าผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 28 ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคควบคุม ครอบงำ ชี้นำ การดำเนินกกิจกรรมของพรรคการเมือง ซึ่งในกรณีนี้ กกต.จะอ้างว่าความยังไม่ปรากฎ คงไม่ได้ เพราะทุกคนก็ได้รับทราบจากข่าว
นอกจากนี้ ตนยังได้นำคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ กรณี นายรังสิมันต์ โรม , นายจาตุรนต์ ฉายแสง และ น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา ซึ่งเป็นพวกที่ถูกจับกุมเนื่องจากชุมนุมเกิน 5 คน ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยและจำหน่ายคดี โดยระบุว่า ต้องไปร้องต่อศาลยุติธรรม ซึ่งจะเห็นได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่รัฐฎาธิปัตย์ และสามารถถูกตรวจสอบได้ นอกจากนี้ ยังมีคดีที่ผู้สมัครไปร้องในกรณีที่ กกต.ไม่รับรองให้เป็นผู้สมัครในการสมัครรับเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 4 มี.ค.ซึ่งได้พูดถึงคำสั่ง คสช.ว่าเป็นคำสั่งทางการเมือง เมื่อศาลวินิจฉัยอย่างนี้ กกต.จะยังเชื่อผู้ตรวจการแผ่นดินอยู่หรือไม่ ซึ่งผลไม่ใช่จะเกิดในตอนนี้ แต่จะมีผลต่อการโหวตนายกรัฐมนตรีในสภา ดังนั้น จึงเห็นว่า กกต.จึงควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อไม่ให้เรื่องคาราคาซัง เพราะจะมีการเลือกตั้งในสัปดาห์นี้แล้ว