นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ตนไปหารือกับคณะกรรมการ ปปช.หลังเกิดปัญหากรรมการสภามหาวิทยาลัย และอีกหลายองค์กรทยอยลาออก ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยกับกรรมการปปช.นัดแล้วแต่ยังไม่ได้พบ เพราะปปช.ขอเวลาเตรียมข้อมูลบางอย่าง ซึ่งไม่ได้เจาะจงว่าต้องพูดคุยกับประธาน ปปช.เท่านั้น แล้วแต่ว่าจะมอบหมายใครมา และกรณีนี้มีคำถามเข้ามาจำนวนมาก ประมาณ 10 ข้อ
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีพระเถระชั้นผู้ใหญ่และองคมนตรีที่เข้าไปเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยจำเป็นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตามประกาศ ป.ป.ช.นี้ด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตามเนื้อหาในกฎหมายถ้าดำรงตำแหน่งก็ต้องยื่น แต่เมื่อถามว่า ส่วนตัวคิดว่าต้องแก้ในส่วนไหนบ้าง รองนายกฯปฎิเสธที่จะตอบคำถาม เพราะเป็นอำนาจของป.ป.ช. และเรากำลังจะคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน
ถามต่อว่า ส่วนตัวได้หาทางออกไว้แล้วใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เตรียมทางเข้า เมื่อถามอีกว่า มีแนวโน้มที่จะใช้มาตรา 44 อีกครั้งในการแก้ไขกฎหมายนี้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เคยคิดเรื่องนั้น เพราะอยู่ที่ป.ป.ช.จะมีวิธีการอย่างไร อำนาจอยู่ที่ประธาน ป.ป.ช.จะวินิจฉัย ส่วนจะมีทางออกที่ดีสำหรับทุกฝ่ายหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ ตนไม่กล้าพูด รู้อย่างเดียวตนต้องยื่น
ด้านนายอุดม รัฐอมฤต อดีตโฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)กล่าวว่า ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรรมการและนายกสภามหาวิทยาลัยไม่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่าต้องให้แจงบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน แต่เป็นการเขียนระเบียบของป.ป.ช.โดยการตีความคำว่าผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่มีในบทนิยามคำว่าผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงให้หมายรวมถึงกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานของรัฐ หรือตำแหน่งเทียบเท่าตามที่ป.ป.ช..ประกาศ
ทั้งนี้ ตอนที่กรธ.ยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ไม่ได้บัญญัติคำว่ากรรมการเอาไว้ แต่มีการเพิ่มเติมขึ้นมาในชั้นการพิจารณาของกรรมาธิการฯในสนช. จึงทำให้ป.ป.ช.ตีความว่า กรรมการสภามหาวิทยาลัย เสมือนเป็นบอร์ดของหน่วยงานรัฐ แต่เมื่อเทียบกับบอร์ดของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จะมีอำนาจในการพิจารณาค่อนข้างมากกกว่ากรรมการสภามหาวิทยาลัย ที่จะมีอำนาจด้านวิชาการมากกว่าเชิงผลประโยชน์เป็นตัวเงิน จึงเป็นปัญหาทำให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยต่างๆ ตัดสินใจลาออก เพราะไม่อยากยุ่งยากในการกรอกข้อความ ซึ่งถ้าเทียบกับค่าตอบแทนที่ได้รับ ก็ไม่คุ้มค่า ซึ่งบุคคลเหล่านั้นส่วนใหญ่ได้รับเชิญเข้าไปเป็นกรรมการ เพราะสถาบันการศึกษาต้องการได้ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ถ้าปล่อยไว้ จะกลายเป็นปัญหาของสภาบันการศึกษา ดังนั้น หากจะแก้ปัญหานี้ ต้องให้รัฐบาลหารือป.ป.ช.ปรับแก้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
“คงไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ อย่างมากที่สุดคือ แก้กฎหมายลูก เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่ากรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ไม่ได้มีคำนี้ในรัฐธรรมนูญ มาเพิ่มตอนกฎหมายลูก ถ้าแก้แค่ประกาศป.ป.ช. ก็เป็นเรื่องหารือระหว่างรัฐบาล กับป.ป.ช.ว่าเจตนารมณ์เห็นแล้วว่าการให้คนที่ถูกเชิญให้ไปช่วยงาน ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน จะวุ่นวายกันใหญ่ คนที่ไม่ประสงค์จะยื่น เขาไม่ได้เดือดร้อนอะไรในเรื่องที่ไม่ต้องดำรงตำแหน่งเหล่านี้ กลายเป็นเรื่องของรัฐที่จะให้ความช่วยเหลือ และแน่นอนว่าคนที่เราไปเชิญให้มาเป็นนายกฯสภา กรรมการสภา ซึ่งทำงานในรูปกรรมการ ดังนั้น ผมคิดว่าตรงนี้ถ้าแก้ตัวกฎหมายลูกได้จะเป็นเรื่องดีที่สุด”นายอุดม กล่าว
และว่า แม้ไม่ได้กำหนดให้นายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยแจงบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน แต่ กรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจตรวจสอบบุคคลเหล่านี้ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐได้อยู่แล้วหากมีข้อสงสัยก็สั่งให้ยื่นบัญชีได้ กรณีกรรมการและนายกสภามหาวิทยาลัยนี้ ไม่ได้ยื่นบัญชีต่อป.ป.ช.เหมือนข้าราชการทั่วไปที่ยื่นแล้วให้ป.ป.ช.ตรวจสอบ แต่เป็นการยื่นที่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณอีกด้วย จึงทำให้ไม่มีใครอยากเข้ามาทำงานตรงนี้ และจะเป็นปัญหาต่อสถาบันอุดมศึกษา ทำให้มีคนออกมาค้าน