ปูดผลสอบจเรฯปมคดี”ทุนมินลัด”ลือหึ่ง คนปล่อยแค้นส่วนตัว-แทงหลัง หวังดิสเครดิต

705


 “         กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในแวดวงสีกากีพร้อมตั้งคำถาม ว่าผลตรวจสอบข้อเท็จจริงของจเรตำรวจ ประเด็นการแทรกแซงการสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานของอดีตผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)คดีที่นายอุปกิต ปาจรียางกูร  สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ถูกกล่าวหาพัวพันการฟอกเงินขบวนการค้ายาเสพติดของ”ทุมมินลัด”ถูกปล่อยผ่านสื่ออย่างน้อยสองสำนักนั้น คนปล่อยต้องการแก้แค้นส่วนตัวหรือต้องการให้สังคมได้รับทราบความจริงหรือหวังเขย่าเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)และนายกรัฐมนตรี

       ซึ่งประเด็นเขย่าเก้าอี้ ผบ.ตร.และนายกรัฐมนตรี เป็นประเด็นการเมืองที่นายรังสิมันต์ โรม สส.พรรคประชาชน เคยอภิปรายไม่วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำไปขยี้ต่อและสื่อบางสำนักรับลูกนำไปขยายต่อพร้อมตั้งคำถามว่า ผบ.ตร.และนายกฯ คนปัจจุบันจะจัดการอย่างไร เพราะผลสอบเสนอไปตั้งแต่ปี 2566 แล้ว

     แต่ประเด็นแก้แค้นส่วนตัวนั้นคนในแวดวงสีกากีตั้งคำถามว่าผลการสืบสวนสอบสวนเสนอต่อ ผบ.ตร.ไปตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 แต่ทำไมผลการสอบสวนของจเรตำรวจถึงเพิ่งมาเผยแพร่

       จึงอดมองไม่ได้ว่าผู้ที่นำออกมาปล่อยนั้นเพราะความแค้นส่วนตัว และหวังดิสเครดิตผู้ที่ถูกกล่าวหามากกว่าต้องการให้สังคมโดยรวมได้รับทราบความจริง เพราะถ้าให้สังคมรับทราบความจริงต้องปล่อยตั้งแต่ที่ผู้ถูกกล่าวหายังรับราชการอยู่ ไม่ใช่มาปล่อยเมื่อตัวเองพลาดพลั้งแล้วพาลไปว่าถูกอดีตผู้บังคับบัญชากลั่นแกล้ง

        แถมในท้ายของผลสอบสื่อบางสำนักนำเสนอว่าผู้ถูกกล่าวหาและผู้ถูกพาดพิงทั้งหมดในรายงานของคณะกรรมการชุดนี้ ยังมิได้ตั้งข้อกล่าวหาอย่างเป็นทางการ จึงสามารถชี้แจงข้อเท็จจริงและมีสิทธิ์สู้ตามกระบวนการกฎหมายได้ จึงพออนุมานได้ว่าผลสอบสวนนี้ยังไม่สมบรูณ์ เพราะเป็นการสอบสวนฝ่ายเดียว

          หากย้อนดูจุดเริ่มต้นการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยจเรตำรวจ นายรังสิมันต์ บอกว่าเกิดขึ้น ในยุคที่ พล.ต.อ.วิสนุ ประสาททองโอสถ เป็นจเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.)มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา

       มีการสอบหลายประเด็นแต่ประเด็นสำคัญคือ การแทรกแซงและรวบรวมพยานหลักฐาน ของอดีตผู้บังคับบัญชาและนายตำรวจระดับสูง เนื้อหาในการสอบ เริ่มที่ พ.ต.ท.มานะพงษ์ พูดให้ตำรวจสืบสวน บก.น.2 ฟังหลายครั้งว่าพล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. บอกกับตนว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.ไม่ต้องการให้สืบสวนขยายผล เนื้อหาของผลสอบสวนยังระบุว่าพ.ต.อ.กฤศณัฎฐ์ฯและพ.ต.ท.สุชาติ ให้การสอดคล้องต้องกันว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดีกับนายอุปกิตได้ ไม่ควรหยุดดำเนินคดีเพราะเหตุที่ผู้บังคับบัญชาสั่งการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

        จึงเห็นว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์และพล.ต.ต.นพศิลป์ น่าจะเป็นอุปสรรคทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีกับนายอุปกิตได้ ขณะเดียวมีการระบุว่า พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น.สั่งการไม่ให้สืบสวนต่อเพราะถูกผู้บังบัญชากดดันและออกหนังสือกำชับการปฏิบัตินั้น  เชื่อว่า พล.ต.ต.ธีรเดช ไม่อยากให้สืบสวนต่อ  

       นอกจากนี้สื่อนำเสนอว่า พ.ต.อ.กฤศณัฎฐ์ พ.ต.ท.มานะพงษ์และพ.ต.ท.สุชาติให้การสอดคล้องกันว่าพล.ต.ต.นพศิลป์ โทรศัพท์ไปหาบอกว่าให้หยุดดำเนินการสืบสวนขยายผล ทาง พล.ต.ต.นพศิลป์และ พล.ต.ต.ธีรเดช ได้ทำหนังสือชี้แจงว่าไม่ได้เข้าไปยุ่งหรือแทรกแซงรวมถึง พล.ต.อ.สุวัฒน์ ไม่ได้สั่งการแต่อย่างใด

        หากมองอย่างวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ พล.ต.ต.นพศิลป์ และพล.ต.ต.ธีรเดช ที่โทรศัพท์สั่งการหรือพูดในที่ประชุม ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เพราะตำรวจทั้ง 3 นาย แวดวงสีกากีต่างทราบกันดีว่าเป็นนักสืบชั้นเชียนของ ตร. ตำรวจต่างยอมรับในฝีมือการทำงาน รวมทั้งประชาชนที่ติดตามข่าวสารและประชาชนที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรในหลายพื้นที่ล้วนเคยใช้บริการของนายพลตำรวจทั้งสามนายมาแล้ว

     ถ้าจะสั่งการจริงมือสืบสวนชั้นครูต้องทำด้วยวิธีการแนบเนียนกว่านี้ หรือถ้าทำจริงต้องดึงคดีมาให้ชุดที่ไว้วางใจดำเนินการจะดีกว่า และในความเป็นจริง พล.ต.อ.สุวัฒน์ สั่งกำชับพล.ต.ต.นพศิลป์และพล.ต.ต.ธีรเดชว่าต้องทำคดีด้วยความรอบคอบเพราะมี สว.เกี่ยวข้องด้วย

  ที่สำคัญถ้าแทรกแซงจริง พ.ต.ท.มานะพงษ์ และทีมสืบสวนคงไม่สามารถที่จะยื่นคำร้องขอหมายจับนายอุปกิตต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 ได้อย่างแน่นอน และผลสอบสวนของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต)ให้ตุลาการที่เกี่ยวข้องกับคดีออกจากราชการ 2 รายและไล่ออกจากราชการ 1 ราย โดยผลสอบสวนระบุว่าแทรกแซงการเพิกถอนหมายจับนายอุปกิต น่าจะเป็นหลักฐานยืนยันว่าหลักฐานที่ตำรวจยื่นขออนุมัติหมายจับนั้นแน่นหนา

  ถ้า พล.ต.อ.สุวัฒน์ พล.ต.ต.นพศิลป์และพล.ต.ต.ธีรเดช แทรกแซงและสั่งให้ยุติการสืบสวนจริง ผลกระทบคงไม่ไปตกที่อยู่ที่ตุลาการทั้ง 3 คน เพราะไม่ต้องไปพลิกแพลงหลักฐานเพื่อถอนหมายจับ 

    ดังนั้นถ้ามองถึงผลสอบสวนของจเรตำรวจที่เสนอให้ ผบ.ตร.ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 พอประเมินได้ว่าผลสอบชุดนี้น่าจะถูกถ่ายสำเนาไว้หลายชุด เพราะในช่วงปี 2566 ตำแหน่งจเรตำรวจเกษียณอายุไปหลายนาย ขณะรับราชการบางนายจัดหลักสูตรอบรมบุคคลภายนอก แต่พล.ต.อ.สุวัฒน์ ผบ.ตร.ขณะนั้นสั่งเบรกต้องพับโครงการไป

  บางนายที่เกษียณอายุไปนั่งตำแหน่งใหญ่แต่ถูกครหาว่าเอื้อพวกพ้อง ถูกกดดันจนต้องไขก๊อก แต่ยังมีภาพจำของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ติดอยู่ ทำให้เกิดความคลางแคลงใจหวังตอบโต้คืน การตอบโต้ที่ดีที่สุดคงหนีไม่พ้นการนำข้อมูลที่เก็บไว้ออกมาปล่อยผ่านสื่อ เพื่อดิสเครดิต จะจริงเท็จอย่างไรนั้นพอที่จะทำให้ผู้กล่าวหาและผู้ถูกพาดพิงเสียชื่อเสียงไปแล้วระดับหนึ่ง  คนทั่วไปเรียกพฤติกรรมแบบนี้ว่าพวกแทงข้างหลัง  

     ดังนั้นการปล่อยข้อมูลเพื่อดิสเครดิต พล.ต.อ.สุวัฒน์ พล.ต.ต.นพศิลป์และพล.ต.ต.ธีรเดช เป็นฝีมือของใครในแวดวงสีกากีวิเคราะห์ไว้ว่าเป็นอดีตตำรวจใหญ่ แต่เป็นใครนั้นส่วนใหญ่จะพูดว่ารู้ๆกันอยู่ !!! ที่แน่ๆเคสนี้ ผบ.ตร.ต่าย คงไม่สบายใจมากนัก เพราะตัวเองไม่มีเอี่ยว แต่จะต้องมาเกิดขึ้นในยุคที่ตนนั่งในตำแหน่ง “พิทักษ์ 1”