ข่าวดี!! บรรจุ “พระปรางค์วัดอรุณ” บัญชีรายชื่อเบื้องต้นศูนย์มรดกโลกแล้ว รอนำเสนอที่ประชุมใหญ่ที่ฝรั่งเศส กค.นี้

144

กรุงเทพฯ วันที่ 25 เม.ย. จากกรณีที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 เมษายน ตามที่ นายเฉลิมชัย  ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นำเสนอให้บรรจุแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม วรมหาวิหาร” ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลก และ และ ครม. มอบหมายให้นายประเสริฐ  จันทรรวงทอง ในฐานะประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกลงนามในเอกสารนำเสนอฯ ต่อศูนย์มรดกโลก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)  ในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ได้จัดส่งเอกสารดังกล่าวให้ศูนย์มรดกโลก แล้ว

นางชญานันท์  ภักดีจิตต์ เลขาธิการ สผ. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568  ศูนย์มรดกโลกได้ประสาน สผ. ว่า เอกสารนำเสนอ “พระปรางค์วัดอรุณ” ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลก เป็นไปตามเงื่อนไขการจัดทำเอกสารที่กำหนด และได้บรรจุแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของไทยแหล่งนี้ไว้ในบัญชี แล้ว นับเป็นแหล่งที่ 7 ของไทยในบัญชีดังกล่าว และ สผ.  จะได้นำเรียนเรื่องดังกล่าวต่อ นายประเสริฐ เพื่อทราบต่อไป

การดำเนินงานในลำดับต่อไป ศูนย์มรดกโลก จะได้นำเสนอการบรรจุแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมดังกล่าวในวาระการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2568 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส และประเทศไทยจะต้องจัดเตรียมเอกสารการนำเสนอเป็นแหล่งมรดกโลกเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกพิจารณา ภายในระยะเวลา 10 ปี หากเกินระยะเวลาดังกล่าว ศูนย์มรดกโลกเสนอแนะให้ทบทวนและจัดส่งเอกสารการนำเสนอใหม่ เนื่องจากข้อมูลในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นฯ จะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับรัฐภาคีสมาชิก และองค์กรที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลก ในการบ่งชี้ถึงรายละเอียดของแหล่งที่จะนำเสนอเป็นแหล่งมรดกโลกต่อไป

สำหรับการนำเสนอ พระปรางค์วัดอรุณ ในครั้งนี้ เป็นไปตามเกณฑ์คุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากล 2 ข้อ คือ เกณฑ์ข้อที่ 1 เป็นตัวแทนสถาปัตยกรรมประเภทเจดีย์ในพุทธศาสนาที่มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ด้านรูปแบบ เทคนิคการก่อสร้าง คติการสร้าง และศิลปกรรม เป็นพระปรางค์ที่มีขนาดใหญ่ และสวยงามที่สุดในราชอาณาจักรไทยและเอเชีย และเกณฑ์ข้อที่ 2 เป็นสถาปัตยกรรมประเภทเจดีย์ ในพุทธศาสนาที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปกรรมสมัยอยุธยา และมีพัฒนาการด้านการออกแบบ แผนผัง สถาปัตยกรรม และศิลปกรรม จนเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของสมัยรัตนโกสินทร์เพียงแห่งเดียว