“ช่วงปลายเดือนมีนาคมมีโผนายพลตำรวจคลอด 2 โผ โดยโผแรกคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.)ไฟเขียวแต่งตั้งนายพลตำรวจยศ พล.ต.อ.-พล.ต.ต. เป็นที่ปรึกษาพิเศษและผู้ทรงคุณวุฒิ หรือเรียกกันติดปากว่านายพลแกมลิง จำนวน 53 นาย“

โผถัดมา พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)ลงนามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)ที่194/2568 อนุญาตให้ข้าราชการตำรวจลาออกจากราชการหรือเออรี่รีไทร์ จำนวน 25 นาย แยกเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. 3 นาย ผู้บัญชาการ(ผบช.)และหัวหน้าจเรตำรวจ 5 นาย รองผบช. 7 นายและผู้บังคับการ 10 นาย มีผลตั้งวันที่ 1 เมษายน
กรณีนายพลแก้มลิงเป็นไปตามที่กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ 2567 ข้อที่ 7 ระบุว่าให้มีการคัดเลือกหรือแต่งตั้งข้าราชการตำรวจเป็น 2 วาระ คือวาระประจำปี และวาระที่ 2 เดือนเมษายน ให้ ตร.ดำเนินการเสร็จภายในวันที่ 30 มีนาคมของทุกปี
หากดูตามกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งฯวาระที่ 2 ไม่ได้ระบุให้แต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ขยับขึ้นและที่ผ่านมามิได้แต่งตั้งแทนตำแหน่งดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วนตำรวจที่ยื่นเออรี่ฯปกติจะเกิดขึ้นในช่วงใกล้เกษียณอายุ แล้วทาง ตร.จะดำเนินการแต่งตั้งโยกย้ายไปพร้อมกับวาระประจำปี
แต่ปีนี้กลับเกิดอาการเร่งรัดแบบผิดปกติ เพราะวันที่ 18 มีนาคม คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์แนวทางการดำเนินโครงการปรับเปลี่ยนกำลังพลหรือออรี่รีไทร์ ตามที่ตร.เสนอและให้ดำเนินการทันทีมีผลวันที่ 1 เมษายน จากปกติจะทำช่วงก่อนวันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี
จากปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดข่าวลือสะพัดว่าทางรัฐบาลหรือฝ่ายการเมืองต้องการที่จะจัดทัพสีกากีอีกรอบ เพราะการแต่งตั้งวาระประจำปี ตำรวจที่ถือตั๋วนักการเมืองซีกรัฐบาลต่างอกหักไปตามๆกันเพราะ ผบ.ตร.และ ก.ตร.ต่างยึดหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัดทั้งกฎหมายตำรวจ 2565 และกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งตำรวจ 2567 แถมคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ(ค.พ.ค.ตร.)ยืนจังก้ารับเรื่องร้องเรียนของตำรวจที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม
ขณะเดียวกัน มีข่าวสะพัดว่าการแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่เออรี่ฯจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนนี้และอาจจะหักดิบประเพณีปฏิบัติด้วยการแต่งตั้งแทนตำแหน่งของนายพลแก้มลิงไปในคราเดียวกันด้วย
จนเกิดข้อถกเถียงกันในแวดวงสีกากีว่าไม่สามารถดำเนินการได้เพราะขัดกฎก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งที่กำหนดว่าแต่ละปีมีเพียง 2 วาระเท่านั้นคือวาระประจำปีและวาระเดือนเมษายน หากเกินจากนี้คงตีความว่าผิดกฎหมาย
แต่เมื่อฝ่ายการเมืองและรัฐบาลต้องการจะเยียวยาตำรวจในสังกัดที่พลาดโอกาสในวาระประจำ ย่อมที่จะมีช่องทางให้เดินเสมอ และเพื่อให้การแต่งตั้งครั้งนี้มีตำแหน่งเพิ่มขึ้นคงควบรวมกับตำแหน่งที่ว่างจากการแต่งตั้งนายพลแก้มลิงไปด้วย
ซึ่งภาระหนักจะไปตกที่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ในการหาแนวทางให้การแต่งตั้งเกิดขึ้นได้ แถมจะต้องบริหารจัดการตั๋วนักการเมืองและรัฐบาลให้เป็นที่พึงพอใจมากที่สุดอีกด้วย
เมื่อมองอย่างวิเคราะห์แนวทางที่ดีที่สุดคงจะต้องหันพึ่ง ก.ตร. เพราะในกฎก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งฯได้เปิดช่องให้ขยับได้สะดวกอยู่แล้ว และการแต่งตั้งนอกวาระเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ยกตัวอย่างในยุคที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็นผบ.ตร.มีการแต่งตั้งโยกย้ายนอกวาระหลายครั้ง บางครั้งดำเนินการแบบเงียบเชียบและ ก.ตร.ไฟเขียวให้ทุกเรื่องที่เสนอเข้าไป
ดังนั้นการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้คงต้องจับตาเป็นพิเศษว่าฝ่ายการเมืองจะล้วงลูกแบบเต็มสูบหรือไม่ และ ก.ตร.จะยืนจังก้าเพื่อพิทักษ์กฎกติกา หรือจะเป็นตรายางประทับความถูกต้องให้การแต่งตั้งทั้งเออรี่ฯและแทนนายพลแก้มลิง ดำเนินไปด้วยอย่างสะดวกโยธิน สมดังใจทั้งบ้านจันทร์ส่องหล้าและทำเนียบรัฐบาล
แต่เชื่อว่า ก.ตร.จะทำหน้าที่เป็นแค่ตรายางและอาจจะมาพร้อมกับเสียงครหาว่ามีต่างตอบแทนก็เป็นได้ เพราะที่ผ่านมาเกิดให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง !!!
