(30 มี.ค. 68) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามในหนังสือ ขอให้เจ้าของอาคาร หรือผู้ครอบครองอาคาร ประสานผู้ตรวจสอบอาคารเข้าทำการตรวจสอบความเสียหาย เพื่อประเมินวิธีการปรับปรุง แก้ไข ซ่อมแซ่ม หรือเสริมกำลังของอาคาร เพื่อให้อาคารมีความปลอดภัย มั่นคง แข็งแรง ต่อการใช้งานตามหลักวิศวกรรม และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป และขอให้รายงานผลต่อกรุงเทพมหานครทุกวัน ภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนสามารถกลับเข้าใช้อาคารได้อย่างปลอดภัย โดยให้เจ้าของอาคาร หรือผู้ครอบครองอาคารสามารถรายงานผลให้กรุงเทพมหานครทราบทุกวัน ผ่านระบบ Google form ตามลิงก์ https://forms.gle/4dxiHsZCZZpbiGkQA หรือ QR code ด้านล่าง
โดยมุ่งเน้นไปที่ เจ้าของอาคาร 9 ประเภท ที่เข้าข่ายต้องทำการตรวจสอบอาคารเป็นประจำทุกปี ได้แก่ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารชุมนุมคน โรงมหรสพ โรงแรม สถานบริการ อาคารชุด อาคารอยู่อาศัยรวม โรงงาน ป้าย ซึ่งการให้รายงานในระยะเวลา 2 สัปดาห์ ก็เพื่อให้สามารถเฝ้าติดตามจุดเสี่ยง ร้อยร้าว ความเสียหายของอาคาร มีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ยังใช้สอยได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ โดยใน Google Form จะให้ระบุชื่อเจ้าของอาคาร ชื่อผู้ตรวจสอบอาคาร เลขที่ผู้ตรวจสอบอาคาร และความคิดเห็นผู้ตรวจสอบอาคาร ว่าอาคารปลอดภัย หรือต้องปรับปรุง เพื่อให้กรุงเทพมหานครได้ทราบภาพรวมของอาคารในกรุงเทพฯ ผ่านความร่วมมือของผู้ตรวจสอบอาคาร
- อาคารสูง (ความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป)
- อาคารขนาดใหญ่พิเศษ (อาคารที่มีเนื้อที่อาคารรวมกันตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตร ขึ้นไป)
- อาคารชุมนุมคน ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตร ขึ้นไป หรือจำนวนคนตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป
- โรงมหรสพ
- โรงแรม ที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้อง ขึ้นไป
- สถานบริการ ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตร ขึ้นไป
- อาคารชุด หรืออาคารอยู่อาศัยรวม (หอพัก อะพาร์ตเม้นต์) ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตร ขึ้นไป
- โรงงานที่มีความสูงมากกว่า 1 ชั้น และมีพื้นที่ตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตร ขึ้นไป
- ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย ซึ่งมีความสูงจากพื้นดิน ตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตร ขึ้นไป หรือป้ายที่ติดตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้า ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตร ขึ้นไป
พร้อมกันนี้ ขอให้ผู้ได้รับใบอนุญาตหรือผู้แจ้ง ต้องตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยของปั้นจั่นหอสูงและเดอริกเครนในสถานที่ก่อสร้างก่อนการใช้งาน เพื่อป้องกันมิให้เกิดภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน
