“ ถ้าตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ที่กำลังก่อสร้างไม่พังถล่มจนฝังร่างวิศวกรและคนงานก่อสร้างเกือบร้อยชีวิต จะทำให้เหตุแผ่นดินไหวในประเทศไทยดูเบาลง เพราะแต่ละพื้นที่ที่เกิดความเสียหายอยู่ในระดับปานกลางหนักไปทางเบาบาง“

แม้จะมีคอนโดมิเนียมบางแห่งฝ้าเพดานพัง ระบบไฟฟ้าและประปาเสียหาย แต่ไม่มีผู้อยู่อาศัยเสียชีวิต มีบาดเจ็บบ้างเกิดจากวิ่งหนีหลบภัยเท่านั้น ส่วนอาคารมีเพียงรอยร้าวที่ซ่อมให้อยู่ในสภาพเดิมได้
จากผลพวงจะตึกถล่ม ทางสตง.กลายเป็นเป้าที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบ พร้อมกับถูกตั้งคำถามทั้งจากชาวบ้านและข้าราชการทุกหน่วยงานว่าเป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบผู้อื่น แต่กลับลืมตรวจสอบตัวเอง
กระทั่งผู้ว่า สตง.ที่เพิ่งจะมารับตำแหน่งใหม่ ออกจดหมายเชิงปลอบใจชาว สตง.บางตอนว่า ต้องร่วมแรงรวมใจกันมองไปข้างหน้าเพื่อก้าวข้ามช่วงเวลาที่หนักหน่วงและเลวร้ายนี้ไปด้วยกัน
แต่ผลจากเหตุธรณีพิโรธเชื่อว่าชาวบ้านที่ติดตามการทำงานของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง คงได้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐไทยแทบทุกซอกทุกมุม ขอยกสัก 2 ตัวอย่างเพื่อฉายภาพให้เห็น
เริ่มที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐ,มนตรีเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.)และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เป็นต้น โดยนายกรัฐมนตรีถามว่าหน่วยงานไหนต้องแจ้งเตือนภัย อธิบดี ปภ.ตอบว่าเป็นหน้าที่ของ ปภ. แจ้งไปที่กสทช.เพื่อส่งเอสเอ็มเอส เตือนชาวบ้าน นายกรัฐมนตรีไล่ไทม์ไลน์ที่ส่ง รองเลขาธิการ กสทช.แจ้งเวลาให้ทราบ
นายกฯสอบถามว่าเนื้อหาที่แจ้งเป็นอย่างไร อธิบดี ปภ.ในฐานะผู้รับผิดชอบเกิดชะงักชั่วครู่แล้วแจ้งเนื้อหาให้ทราบ จนนายกรัฐมนตรีออกอาการไม่ปลื้มพร้อมกับพูดว่า”ดิฉันผิดเองที่ไม่ได้ระบุว่าต้องส่งอะไรบ้าง ซึ่งทุกฝ่ายควรจะแจ้งข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง…”
จากคำพูดเชิงตำหนิตัวเองของน.ส.แพทองธาร กลายเป็นประเด็นร้อนในโลกออนไลน์ กลุ่มที่ไม่ชอบจะตำหนิว่าไม่มีความรู้มาเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ทำไม กลุ่มเชียร์บอกว่านายกรัฐมนตรีทำถูกพร้อมตำหนิข้าราชการว่าแค่เนื้อหาในเอสเอ็มเอส ยังต้องให้นายกฯร่างให้หรือ ?
ถ้ามองอย่างเป็นกลางแล้วนำหลักบริหารมาจับถือว่านายกรัฐมนตรีทำถูก เพราะข้าราชการต้องพร้อมที่จะนำเสนอข้อมูลในทันทีเมื่อมีเหตุวิกฤต นายกฯมีหน้าที่เพียงแค่ประส่านความร่วมมือกับทุกหน่วยให้ขับเคลื่อนงานไปได้เท่านั้น
จากประเด็นดังกล่าวพอสะท้อนให้เห็นถึงระบบข้าราชการของไทยว่าไร้การทำงานเชิงรุก ไม่มีความพร้อมพอที่จะรับมือเมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤตได้
ขอยกอีกประเด็นเพื่อสื่อให้เห็นถึงผู้นำรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาว่าตามไม่ทันเล่ห์ของนักธุรกิจต่างชาติ ปมตึก สตง.ถล่ม ต่างฟันธงกันว่าสาเหตุหลักใช้เหล็กไร้มาตรฐาน พอสืบลึกลงไปพบว่านักธุรกิจจีนจ้างคนไทยเป็นนอมินีตั้งบริษัทดึง พลเอกทหาร เข้ามาเป็นที่แบ๊ก จังหวะที่บริษัทจีนสร้างโครงสร้างของตึกสตง.เสร็จเรียบร้อยแล้วยังเชิญบิ๊กรัฐบาลไปร่วมแสดงความยินดีในผลสำเร็จอีกต่างหาก เพราะคาดหวังว่าบิ๊กรัฐบาลจะเป็นเกราะป้องกันที่ดี
ยิ่งมองถึงองคาพยพของกระบวนการก่อสร้างตึก สตง. ที่ยึดตามขั้นตอนของกฎหมายแบบหาจุดบอดเพื่อเอาผิดกับข้าราชการที่เกี่ยวข้องไม่ได้เลย ระหว่างทางแม้จะเกิดการทุจริตยากที่จะสืบสวนเอาผิดได้ เปรียบเสมือนการซื้อตึก 7,000 ล้านบาทของสำนักงานประกันสังคม ที่สืบสวนเอาผิดผู้เกี่ยวข้องไม่ได้เช่นกัน
ดังนั้นถ้ามองบริบทโดยรวมจากปมธรณีพิโรธจนนำไปสู่ตึกสตง.ถล่ม ยังไม่นับรวมระบบเตือนภัยผ่านเอสเอ็มเอส ที่มีโครงการและจัดสรรงบประมาณไปดำเนินการเกือบสิบปีแล้วยังต้องรอถึงกลางปี 2568 ถึงจะใช้งานได้ พอสะท้อนว่ารัฐไทยทั้งองคาพยพอ่อนด้อยอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการระดับสูงทำงานแบบต้องรอให้ผู้นำสั่งการทั้งที่มีอำนาจทำได้ทันที
ยิ่งมองผู้นำรัฐบาลหรือรัฐมนตรีช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนจะไม่ทันเล่ห์ของนักธุรกิจต่างชาติ แถมขาดความรอบรู้ถึงพลวัตของแต่ละประเทศที่จะเข้ามาเป็นคู่ค้าหรือลงทุนทำธุรกิจในประเทศ เหตุตึกสตง.ถล่มเป็นดัชนีชี้วัดได้เป็นอย่างดี
แต่ที่”จอมมารน้อย” นำเสนอว่าไม่ทันเล่ห์นักธุรกิจและข้าราชการทำงานแบบตั้งรับนั้น อาจจะเป็นเพียงอาการแกล้งโง่เพื่อเปิดช่องรับผลประโยชน์ก็เป็นได้ เพราะเมื่อแสดงบัญชีทรัพย์ต่างรวยอู้ฟู่ จนชาวบ้านธรรมดาอย่างพวกเรามองด้วยสายตาอันร้อนผ่าว
