กรุงเทพฯ วันที่ 26 มีนาคม “ลอรี่” พงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวง เปิดเผยว่า ตนได้ติดตามญัตติอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ที่เสร็จสิ้นไปเมื่อช่วงสายของวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งตลอดการอภิปรายที่ยาวนานกว่า 37 ชั่วโมง ตนเห็นว่า ฝ่ายค้านในฐานะผู้อภิปรายเสนอญัตตินี้ขาดซึ่งความรู้ความเข้าใจและความถูกต้องในเนื้อหาข้อมูล ขาดซึ่งความเชี่ยวชาญและหลักการใช้ภาษาที่ถูกต้อง ทั้งยังมีลักษณะของการอ่านโพยข้อมูล ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพเป็นคะแนนแล้ว ในระดับความถูกต้องของข้อมูลคง -15 คะแนนจาก 10 คะแนนเต็ม ส่วนการใช้ภาษาก็อยู่ที่ 2 คะแนน ขณะที่การเตรียมการก็ให้ 4 คะแนน ซึ่งทั้งหมดตรงข้ามกับความมั่นใจของผู้อภิปรายที่แทบได้คะแนนเต็ม 10
ทั้งนี้ตนเห็นว่า ผู้อภิปรายมักพยายามหยิบโยงเรื่องราวมาแต่งเสริมต่อเติมตามหลักทฤษฎีสมคบคิด มีการใช้อารมณ์เข้ามามีส่วนร่วมในการอภิปราย จนทำให้ข้อมูลต่าง ๆ ขาดซึ่งหลักการคิดวิเคราะห์ตามหลักที่ถูกต้องและควรจะเป็น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ ในเรื่องของการพาดพิงมาถึงกระทรวงอุตสาหกรรม ในประเด็นอ้อยเผา ซึ่งผู้อภิปรายมีการอ้างว่าตัวเลขอ้อยเผาของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เดินหน้าผลักดันและขอความร่วมมือกับโรงงานให้ลดการรับซื้ออ้อยเผา และขอให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยลดการเผาอ้อย จนทำให้อัตราอ้อยเผาลดต่ำลงมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ จนต่างประเทศยังชื่นชมนั้นเป็นเรื่องที่เชื่อถือไม่ได้ โดยผู้อภิปรายอ้างว่า อัตราอ้อยเผามีสูงถึง 28 ล้านตัน ในระหว่างช่วงเดือน พฤษภาคม 2567-พฤษภาคม 2568

ซึ่งเรื่องนี้ขอชี้แจงว่า การเผาอ้อย เกษตรกรจะทำกันแค่ในห้วงเวลา 4 เดือนของทุกปี หรือที่เรียกว่าช่วงเปิดหีบ ซึ่งปีนี้เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567-เมษายน 2568 จึงไม่ทราบว่าผู้อภิปรายไปกำหนดเวลาในอนาคตที่ยังมาไม่ถึงมาคำนวณได้อย่างไร ทั้งที่ในช่วงเวลานั้นก็ไม่ใช่ช่วงเผาอ้อยแล้วด้วย และอาจเป็นไปได้ว่าตัวเลขดังกล่าวของผู้อภิปรายมีการเหมารวมทุกอย่างที่มีการเผา ที่ไม่ใช่แค่การเผาอ้อยอย่างเดียว เช่นนี้จึงถือเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแก่ประชาชน
นายพงษ์พลกล่าวว่า ประการต่อมา การที่ผู้อภิปรายอ้างว่าดูอ้อยเผาจากแผนที่จุดความร้อนจากดาวเทียม หรือ Hotspot เรื่องนี้ตนขอให้ข้อมูลว่า วงรัศมี Hotspot จากดาวเทียม GISTDA นั้น มีความกว้างถึง 600 ไร่ ที่เป็นการประเมินที่มีความคลาดเคลื่อนและไม่แม่นยำ ดังนั้นหากมีการเผาเพื่อประกอบกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เผาฟืนทำอาหาร เผาข้าวโพดซังข้าว ก็จะถูกเหมาให้เป็นการ “เผาอ้อย” ได้ทั้งหมด

ประการที่สาม ที่มีการระบุตัวเลขอ้อยเผาว่ามีจำนวน 11 ล้านตัน เป็นเรื่องที่ผิดจากความจริง เพราะข้อมูลที่ถูกต้องจากสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย พบว่าขณะนี้อยู่ที่ 13.6 ล้านตัน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวจากสำนักงานมีการตรวจทบทวนอย่างละเอียดเป็นประจำในทุกเช้าของทุกวัน ดังนั้นจึงเป็นตัวเลขที่เชื่อถือได้และมีความถูกต้อง แม่นยำสูง
ประการสุดท้าย ที่ผู้อภิปรายอ้างว่ามีอ้อยเผาหลุดออกนอกระบบมากถึง 10 กว่าล้านตัน ตนขอชี้แจงว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ติดตามเรื่องนี้เป็นอย่างดี ทั้งนี้มีอ้อยเผาที่ต้องเข้าแปรรูปโดยตรงที่โรงเอทานอลเพียง 0.9 ล้านตัน เพราะปนเปื้อน ไม่สามารถนำมาทำเป็นวัตถุดิบสำหรับบริโภคได้ เพราะฉะนั้นการอ้างว่ามีอ้อยเผาหลุดรั่วดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมา
“ผมเป็นห่วงสังคมไทย หากมีการปล่อยให้ผู้อภิปรายนำเสนอข้อมูลผิด ๆ ที่ขาดความถูกต้องมาสู่ประชาชน มาใส่ความคนทำงาน เพื่อหวังผลทางใดทางหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศชาติ ทำให้ข้าราชการขาดกำลังใจในการทำงาน และที่สำคัญจะส่งผลเสียหายอย่างมากต่อพ่อแม่พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน” นายพงศ์พล กล่าวทิ้งท้าย