ที่รัฐสภา วันที่ 13 มีนาคม นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ได้หารือในสภาผู้แทนราษฎร ถึงการใช้อำนาจของประธานสภาผู้แทนราษฎร วันมูหะมัดนอร์ มะทา ในการสั่งให้พรรคร่วมฝ่ายค้านนำชื่ออดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ออกจากญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยระบุว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านยืนยันว่าต้องการเดินหน้าต่อให้มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจให้ได้ภายในสมัยประชุมนี้ และขอใช้พื้นที่สภาแห่งนี้ในการหารือมากกว่าการตอบโต้ผ่านหน้าสื่อเพื่อให้ได้ข้อสรุป อย่างน้อยภายในสัปดาห์นี้จะได้เดินหน้ากระบวนการยื่นญัตติอภิปรายไม่ได้วางใจได้
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า พวกตนไม่ได้ต้องการมาถกเถียงในประเด็นข้อกฎหมาย แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือการใช้อำนาจของประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามหนังสือที่ประธานสภาฯ ตอบกลับมาเมื่อวาน แต่เนื่องจากหนังสือฉบับนี้ลงนามโดยเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตนจึงขอความชัดเจนว่าหนังสือฉบับนี้เป็นการใช้อำนาจของประธานสภาผู้แทนราษฎร และพร้อมรับผิดรับชอบต่อข้อสงสัยทุกการตอบในหนังสือฉบับนี้ใช่หรือไม่ สิ่งที่พวกตนอยากได้ความชัดเจน คือคำตอบของประธานสภาระบุว่ายินดีให้แก้คำในญัตติ เนื่องจากไม่ได้กระทบสาระสำคัญในญัตติ หากพวกตนยอมปรับคำตามที่ประธานสภาเสนอ พวกตนมีสิทธิเต็มที่ในการอภิปรายเนื้อหาตามกรอบในญัตติ โดยพวกตนจะไม่ถูกระงับโดยประธานสภาผู้แทนราษฎรใช่หรือไม่

นายวันนอร์ กล่าวยืนยันว่าถ้ามีการอภิปรายตามญัตติภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญและข้อบังคับก็สามารถอภิปรายได้เต็มที่ ไม่มีใครขัดขวางได้ เว้นแต่อภิปรายผิดข้อบังคับก็อาจจะมีผู้โต้แย้ง ผู้เป็นประธานในที่ประชุมก็ต้องพิจารณาและให้ความเป็นธรรมอย่างตรงไปตรงมาตามข้อบังคับ และอยากให้การประชุมของสภาแห่งนี้ดำเนินไปด้วยดี ประชาชนทั่วประเทศก็อยากฟังการอภิปราย แต่ไม่อยากฟังการประท้วงโต้ตอบกันไปมา นี่คือสิ่งที่ปรารถนา คือการประชุมโดยมีเหตุมีผล ไม่มีผู้ใดคอยประท้วงให้การประชุมดำเนินไปไม่ได้
นายณัฐพงษ์ถามว่า ตามข้อบังคับระบุว่าสามารถอภิปรายกล่าวถึงชื่อบุคคลภายนอกได้หากไม่ได้สร้างความเสียหาย หรือถ้าสร้างความเสียหายผู้อภิปรายเป็นผู้รับผิดชอบเอง แต่ประธานสภาแจ้งว่าที่ไม่สามารถให้พวกตนระบุชื่อทักษิณลงไปในญัตติได้ เพราะประธานเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้อง ดังนั้นหากยอมปรับคำในญัตติพวกตนจะสามารถพูดชื่อบุคคลใดก็ได้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยที่พวกตนเป็นผู้รับผิดชอบเอง ประธานสภายืนยันตามหลักการนี้หรือไม่
นายวันนอร์ ตอบว่า คิดว่าไม่ได้หมายความว่าผู้พูดจะรับผิดชอบผู้เดียวเท่านั้น ผู้เป็นประธานในที่ประชุมที่มีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อย ถ้าไม่เป็นไปตามข้อบังคับก็จะถูกตำหนิ และเดินหน้าต่อไปไม่ได้ เขายินดีหากจะไม่เอ่ยชื่อบุคคลภายนอก ไม่เฉพาะทักษิณ แต่รวมถึงบุคคลภายนอกอื่นๆ ที่ไม่สามารถดำเนินการอภิปรายได้ เพราะตามรัฐธรมนูญมาตรา 151 ระบุชัดเจนว่าการยื่นญัตติเป็นการอภิปรายรัฐมนตรีทั้งคณะ หรือเป็นรายบุคคล สามารถระบุรายชื่อรัฐมนตรีทั้งคณะหรือเป็นรายบุคคลได้ แต่ถ้าใส่ชื่อบุคคลภายนอกเข้าไปด้วย การดำเนินการประชุมก็จะเป็นไปโดยไม่เรียบร้อย แต่ระหว่างการอภิปรายบุคคลภายนอกนั้นเกี่ยวโยงอย่างไรสามารถพูดได้ บางครั้งการพูดอาจจะไม่ต้องใช้ชื่อก็ได้ โดยคนประท้วงก็ประท้วงไม่ได้

ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่าสิทธิในการประท้วงเป็นของสมาชิก แต่สิ่งที่พวกตนไม่อยากเห็นคือการที่ประธานอาจไม่ได้วางตัวเป็นกลางหรือเป็นไปตามข้อบังคับ ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรตอบกลับมาในหน้าที่ 3 เขียนไว้ชัดเจนว่า “การอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ใดที่อาจเป็นเหตุให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับความเสียหาย สมาชิกผู้นั้นต้องเป็นผู้รับผิดชอบผลแห่งการกระทำนั้นเอง” จึงอยากได้ความชัดเจนจากประธาน ว่าในวันประชุมจริงจะยึดตามข้อบังคับ ว่าการอภิปรายถึงบุคคลภายนอกกระทำได้ และพวกตนพร้อมเป็นผู้รับผิดรับชอบต่อการกระทำนั้นเองโดยนายวันนอร์จะไม่ใช้อำนาจของประธานในการขัดขวางใช่หรือไม่
ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่าตนก็เคยใช้ถ้อยคำว่าจะรับผิดชอบเองในการเอ่ยชื่อบุคคลภายนอก แต่ประธานในที่ประชุมก็บอกว่าไม่ได้ ประธานต้องรับผิดชอบในเรื่องกติกาและข้อบังคับ รักษาความเรียบร้อยในที่ประชุม ถ้าพูดไปแล้วไม่มีคนประท้วงประธานก็อาจจะปล่อยได้ แต่ถ้ามีผู้ประท้วงประธานก็ต้องวินิจฉัยข้อบังคับเลย จะให้ประธานมาสัญญาไม่ได้

ด้านนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้ร่วมหารือโดยระบุว่าเข้าใจความกังวลของประธานสภาดี แต่การอภิปรายถึงบุคคลภายนอกก็อาจต้องเปิดพื้นที่ให้บุคคลภายนอกให้ชี้แจงด้วย เช่นนั้นตามข้อบังคับข้อที่ 76 ตนขอเสนอแนะให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้สบายใจว่าสามารถอนุญาตให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีนำบุคคลภายนอกเข้ามาชี้แจงได้ และเพื่อความเป็นธรรมประธานสภาผู้แทนราษฎรก็อาจทำหนังสืออนุญาตให้นายกรัฐมนตรีนำบิดามานั่งชี้แจงร่วมด้วย เพื่อให้เป็นธรรมกับทั้งนายกรัฐมนตรีและบิดาของนายกรัฐมนตรีด้วย

ขณะเดียวกัน รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ร่วมหารือโดยระบุว่า ได้ไปค้นคว้ามาแล้วพบว่ามีหลายครั้งที่มีการพาดพิงถึงบุคคลภายนอก กระทั่งประธานเองก็มีการเสนอญัตติที่พาดพิงถึงบริษัทเอกชน แต่ก็ทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ที่พวกตนใส่ชื่อทักษิณเพราะอยากทำหน้าที่อย่างถูกต้องตรงไปตรงมา แต่ประธานสภาบอกว่าควรจะมีการถอดชื่อโดยอ้างความบกพร่อง จึงฟังคำชี้แจงว่าจะเป็นมาตรฐานแบบนี้ต่อไปหรือไม่
นายวันนอร์ อธิบายว่า ที่บอกว่าในที่ประชุมนี้ได้อ้างชื่อบุคคลภายนอกหลายครั้ง แม้แต่ตนเก็เคยเสนอญัตติตั้งกรรมาธิการศึกษาเรื่องรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งสภาไม่ได้ห้าม และมีการตั้งบุคคลภายนอกมาเป็นกรรมาธิการ ซึ่งเชิญบุคคลภายนอกเข้าชี้แจงได้ แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 151 เป็นเรื่องของสมาชิกกับรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี ซึ่งต้องดำเนินไปตามกติกาการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่มีข้อบังคับหลายข้อเป็นการเฉพาะ
ทั้งนี้ หลังการหารือดำเนินไปได้ระยะหนึ่ง ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และวิปพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ตกลงที่จะนำประเด็นข้อเห็นต่างไปหารือต่อในการประชุมร่วมกันเพื่อให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจสามารถบรรจุญัตติได้