ประเทศเวียดนาม นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ เดินทางเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2568 โดยได้เข้าพบ และหารือทวิภาคี ร่วมกับนายบุ่ย แทงห์ เซิน รมว.ต่างประเทศเวียดนาม เพื่อร่วมกัน ผลักดันความร่วมมือการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว โดยระบุว่า ในยุคนี้ไม่ใช่ยุคของการแข่งขัน แต่เป็นยุคของความร่วมมือให้รอดพ้นจากภูมิรัฐศาสตร์โลกที่มีการแข่งขันสูง และยุคนี้สิ่งสำคัญคือการมีห่วงโซ่อุปทาน หรือ การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ และการผลิตสินค้าร่วมกัน เพราะแต่ละประเทศ มีจุดแข็งต่างกัน ดังนั้น จึงจะต้องใช้จุดแข็งที่ 2 ประเทศมี มาร่วมกันผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการของตลาดโลก
พร้อมยังได้เตรียมการจัดกิจกรรมฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ไทย-เวียดนามในปีหน้า 2568 โดยเน้นการส่งเสริมความร่วมมือในระดับประชาชน รวมถึงการหารือร่วมกันในวันนี้ (24 ก.พ.) ยังจะเป็นโอกาสเพื่อการเตรียมความพร้อม สำหรับการเดินทางเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ภายในปีนี้เช่นกัน

ขณะที่ นายบุ่ย แทงห์ เซินได้สนับสนุนรัฐบาลไทยในการปราบปรามปัญหาสแกมเมอร์ คอลเซ็นเตอร์ และอาชญากรรมข้ามชาติ ที่ไทยได้ดำเนินการ และพร้อมร่วมมือกับไทยในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 และการแก้ไขปัญหาและการบริหารจัดการลุ่มน้ำโขงร่วมกันด้วย พร้อมยังเห็นด้วยกับความร่วมมือยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวของไทย ในการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางถนน ทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งสอดคล้องกับข้อริเริ่ม “6 ประเทศ 1 จุดหมายปลายทาง” หรือ Six Countries, One Destination ของไทย ซึ่งจะมีการเตรียมการเตรียมแผนงานให้เป็นรูปธรรมก่อนที่นายกรัฐมนตรีของไทย เดินทางเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการต่อไป
รมวต่างประเทศเวียดนาม ยังได้ชื่นชมการลงนามความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ระหว่างไทย กับ เอฟตา (EFTA) หรือ สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป ที่ได้เจรจามา 2 ปี พร้อมยังได้แสดงความยินดีที่แรงงานไทยในอิสราเอล ที่ถูกฮามาสจับเป็นตัวประกันในกาซา ได้รับการปล่อยตัว 5 คนในห้วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา

จากนั้นนายมาริษ ได้ร่วมประชุมกับหอการค้าและอุตสาหกรรมไทยในเวียดนาม หรือ ThaiCham และภาคเอกชนไทยที่มาลงทุนในเวียดนาม เพื่อรับฟังการลงทุนของไทยในเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศเป้าหมายในลำดับต้นของนักลงทุนไทย รวมถึงรัฐบาลยังได้สนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ภายใต้การนำของรัฐบาล และเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงเพื่อรับฟังอุปสรรคของภาคเอกชนไทยในต่างประเทศในการดำเนินธุรกิจ เพื่อลดอุปสรรค และสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนของไทยในภาพรวม เพราะทั้งไทยและเวียดนาม มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด ในระดับรัฐบาลทั้งสองฝ่ายที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือในทุกมิติ สำหรับภาคเอกชนไทยที่มาร่วมหารือใน อาทิ GUNKUL, KBANK, Bangkok Bank, Central Retail Vietnam, AMATA, WHA และ Chance and Challenge เป็นต้น

ทั้งนี้ เวียดนามเป็นประเทศที่นิยมของนักลงทุนชาวไทย มูลค่าทางเศรษฐกิจของเวียดนาม อยู่ในลำดับที่ 5 ของอาเซียน ซึ่งในปี 2568 นี้ เวียดนามตั้งเป้า GDP ของประเทศ จะเติบโต 8% และมีเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางในปี 2573 และเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีรายได้สูงในปี 2588 ซึ่งในขณะนี้ รัฐบาลเวียดนามกำลังเดินหน้าปฏิรูป และวางนโยบายทางเศรษฐกิจชั้นสูง สร้างระบบนิเวศรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ พัฒนาอุตสาหกรรมชั้นสูง รวมทั้งมีการปฏิรูประบบราชการ ควบรวมกระทรวงต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดค่าใช้จ่าย ปรับเปลี่ยนประเทศ และเศรษฐกิจไปสู่ระบบดิจิทัล วางโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมจากเหนือสู่ใต้ และจากจีนให้เป็นเนื้อเดียว พร้อมการพัฒนารถไฟความเร็วสูง เพื่อให้เชื่อมโยงกับเส้นทาง Belt and Road Initiative หรือ BRI อย่างสมบูรณ์แบบ
โดยนายมาริษมีกำหนดการเข้าพบนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อหารือทวิภาคี ส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ โดยเฉพาะการผลักดันความร่วมมือการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวร่วมกัน พร้อมยังมีกำหนด เข้าร่วมพิธีเปิดงาน ASEAN Future Forum หรือ AFF 2025 โดยจะมีการกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ Megatrends: Envisioning ASEAN and the World in 2035 ด้วย