ผศ.ดร.หฤทัย นำประเสริฐชัย รักษาการแทนรองคณบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนาคุณภาพการศึกษา ประธานโครงการบัณฑิตศึกษาสาขาบริหารธุรกิจ (ประธานโครงการ MBA) ร่วมกับ ผศ.ดร. ศุภฤกษ์ สุขสมาน รักษาการผู้ช่วยคณะบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานการแถลงข่าวภาพรวมการนำนวัตกรรมผลงานวิจัยต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ โดย ศูนย์ต่อยอดงานวิจัยเชิงพาณิชย์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(Kasetsart Business School Research Commercialization Center) เมื่อ 19 ตุลาคม 61 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ ไฮแอท เซ็นทรัล
ผศ.ดร.หฤทัย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยทั้งในประเทศหรือในระดับนานาชาติมีความพยายามในการนำผลลัพธ์ของงานวิจัยออกสู่ตลาดเพื่อทำให้เกิดการต่อยอดเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม แต่ปัญหาและอุปสรรคในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์หรือต่อยอดเชิงพาณิชย์ที่พบกันอยู่เสมอๆคือ การที่ผลงานวิจัยยังไม่มีการนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์เท่าที่ควร เพราะขาดกลไกสำคัญในกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี ข้อตกลงในการร่วมทุนหรือนำผลงานวิจัยไปใช้ไม่ครอบคลุมทำให้เกิดปัญหา ผู้ประกอบการขาดความรู้ความเข้าใจในการนำผลงานวิจัยไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ การดำเนินการในเรื่องของกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีของทุกมหาวิทยาลัยมักจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันคือมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการสนับสนุนให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ โดยหน่วยงานนี้จะมีหน้าที่ในการประสานงานให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ จัดหาที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษาแก่นักวิจัยและผู้ที่ต้องการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ จัดหาแหล่งทุน จัดกิจกรรมและมีการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางธุรกิจของผลงานวิจัย นอกจากนี้ยังอาจสนับสนุนพื้นที่ทำงานให้แก่นักวิจัย รวมทั้งจัดการเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่นักวิจัย ทว่าถึงแม้จะมีกระบวนการสนับสนุน ต่างๆเหล่านี้ก็ไม่ได้หมายความว่าผลงานวิจัยจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาเป็นสินค้าที่สามารถขายได้ในท้องตลาด นอกจากนี้กระบวนการดังกล่าวยังมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากที่ผูกติดมาอีกด้วย
ดังนั้นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยสำนักบริการวิชาการ ของมหาวิทยาลัย จึงมีแนวทางในการทำงานร่วมกับคณะบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อสร้างกลไกที่จะขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยสู่การเริ่มต้นธุรกิจใหม่ (Startup) โดยการบูรณาการกิจกรรมต่างๆข้างต้นเข้ากับกระบวนการเรียนรู้ของนิสิต โดยเอาโจทย์จริง และผลงานจริงเป็นตัวตั้ง สอดคล้องกับวิธีการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Leaning)
กลไกสำคัญอย่างหนึ่งที่คณะบริหารธุรกิจสามารถช่วยในการขับเคลื่อนให้ผลงานวิจัยสามารถออกสู่ตลาดได้คือการที่การที่เราสามารถนำงานวิจัยมากำหนดโจทย์ปัญหาให้นิสิตเรียนรู้ผ่านรายวิชาต่างๆอาทิ Technology Management, Creativity and Innovation, Electronic Commerce, Special Problems ที่มีอยู่ในคณะเป็นต้นการดำเนินการในรูปแบบนี้จะกระตุ้นให้นิสิตเกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนากลยุทธ์ให้แก่ผลงานวิจัยชิ้นต่างๆที่มีความหลากหลายในเนื้อหาและรูปแบบ กิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้น อาทิการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของงานวิจัย การวิเคราะห์โอกาสทางการตลาด การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือของนักวิจัยคณาจารย์ คู่ค้าและผู้ประกอบการ มีการเชื่อมโยงและถ่ายโอนความรู้และเทคโนโลยีในสาขาต่างๆให้กับนิสิตและผู้ที่เกี่ยวข้อง
ผศ.ดร. ศุภฤกษ์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าการใช้กลไกของการเรียนการสอนที่มีอยู่แล้วมาสนับสนุนผลักดันให้ผลงานวิจัยออกสู่ตลาดนั้นนอกจากจะทำให้นิสิตเกิดการเรียนรู้จากการทำงานจริงๆแล้วยังสามารถสร้างเวทีให้กับเด็กรุ่นใหม่เหล่านี้ที่ต้องการพัฒนาตนเองไปเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในอนาคตเพราะเขาจะได้เริ่มทำงานจริงๆในขณะที่ยังเรียนอยู่โดยมีอาจารย์เป็นทั้งพี่เลี้ยง ชี้แนะในการนำเอาผลิตภัณฑ์จากผลการทำวิจัยไปดำเนินการให้เกิดผลตอบแทนได้จริง แน่นอนว่าไม่ได้หมายความว่านิสิตจะต้องทำได้จริงและประสบความสำเร็จกับทุกๆผลงานวิจัย แต่หากไม่สำเร็จก็ถีอว่าที่นิสิตเหล่านี้ได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ในการที่ต้องเผชิญหน้ากับความล้มเหลว ดีกว่าที่เขาไม่เคยพบกับความผิดพลาด ความผิดหวัง แล้วต้องไปพบกับสิ่งต่างๆเหล่านี้เมื่อออกไปเริ่มธุรกิจด้วยตนเอง ในขณะที่อาจารย์และนักวิจัยก็จะได้ข้อเสนอแนะดีๆกลับไปพัฒนางานวิจัยให้ดีขึ้นต่อไป
การทำงานระหว่างสองหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยในการที่จะช่วยกันนำผลงานวิจัยและทรัพย์สินทางปัญญามาต่อยอดเชิงพาณิชย์ว่าการประเมินผลงานวิจัยว่าสามารถนำออกสู่ตลาดได้นั้นต้องพิจารณาใน 4 มิติ1. เริ่มจากดูที่ความพร้อมของเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนา ความพร้อมของนักวิจัยเอง 2.สำคัญที่สุดคือการประเมินมูลค่าของผลงานชิ้นนั้นๆว่ามีความลงตัวที่จุดใดที่จะเกิดการยอมรับของทุกฝ่าย 3.ต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่า ผลงานวิจัยแต่ละผลงานนั้น มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีอยู่ที่ระดับใด สามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้เลยหรือไม่ 4.ถ้าได้ต้องทำอย่างไรต่อ ถ้าไม่ได้จะทำอย่างไรให้สามารถจับคู่กับหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนในการทำวิจัยร่วมกัน หรือจะมีรูปแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีแบบอื่นๆที่จะสามารถทำให้ผลงานวิจัยจำนวนมากของมหาวิทยาลัยสามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
“วันนี้คณะบริหารธุรกิจ ได้จัดตั้ง ศูนย์ต่อยอดงานวิจัยเชิงพาณิชย์ (Kasetsart Business School Research Commercialization Center) ขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาเลือกหาผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะนำไปทดลองใช้ส่วนตัวก่อนแนะนำคนอื่นๆ หรือสนใจที่จะนำไปต่อยอดงานวิจัย หรือทำการตลาดเอง ลองแวะมาคุยกับเรานี่ถือว่าน่าจะเป็นโอกาสดีๆให้กับผู้ที่กำลังหาสินค้าอยู่ ถ้าสนใจสามารถเข้าค้นหาข้อมูลได้ที่ kbsrcc.net ” ผศ.ดร. ศุภฤกษ์ กล่าว