นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นต่อกรณีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ คำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ว่า การออกคำสั่ง ม.44 ครั้งนี้ ขัดกับรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่เรื่องของการจำกัดสิทธิ เสรีภาพ ซึ่งคำสั่งที่ออกมานี้ มีผลเสมือนกับเป็นการไปลิดรอนสิทธิ์ อีกประเด็นที่สำคัญคือคำสั่งนี้ผูกพันกับรัฐธรรมนูญที่ระบุเอาไว้ว่า การตรากฎหมายต้องไม่สร้างภาระโดยไม่จำเป็น ซึ่งข้อเท็จจริงคือ คนที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิก สมัครใหม่กับพรรคการเมืองเก่าไม่ได้ แต่พรรคการเมืองใหม่ รับสมาชิกได้ ตั้งแต่ มี.ค. เกิดประเด็นตามมาอีกว่า คำสั่งแบบนี้ถือเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ การออกคำสั่งนี้ มีข้อน่าสังเกตว่า เวลาที่สมาชิกจะแจ้งหัวหน้าพรรค ต้องทำเป็นหนังสือ และการยืนยันการเป็นสมาชิก ต้องมีหนังสือถึงหัวหน้าพรรค ชำระค่าบำรุงและต้องแสดงหลักฐาน ซึ่งยังเป็นข้อสงสัยอยู่ว่า จะถือว่าเป็นหลักฐานหรือไม่

ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ถ้ามารวมกันแล้ว เป็นลักษณะของการลิดรอนสิทธิ์ มีลักษณะของการสร้างภาระเกินจำเป็นและภาระของสมาชิก ส่วนตัวหัวหน้าพรรค ซึ่งมีสมาชิกอยู่ 3 ล้านคน จะต้องพยายามสื่อสารภายใน 30 วันเท่านั้น เป็นภาระที่เกินความจำเป็น ซึ่งตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่ได้ทำ และจะต้องไม่ขัดกับกระบวนการตามปกติ ซึ่งกรณีนี้เป็นการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่โดยปกติแล้วก็จะต้องมีการส่งศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อน เพราะฉะนั้นอันนี้คือประเด็นที่ว่า ขัดทั้งในแง่ของการละเมิดสิทธิ เสรีภาพ และในแง่ของกระบวนการ สำหรับข้อโต้แย้งที่ว่าคำสั่ง คสช.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะ คสช.คืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์นั้น นายอภิสิทธิ์มองว่าเมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่เท่ากับอำนาจ ม.44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวหมดสภาพไป ประกอบกับตามรัฐธรรมนูญ ปี60 ไม่ได้เขียนรับรองการใช้อำนาจ ม. 44 แสดงว่าสามารถโต้แย้งได้ อีกทั้งทุกคนต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ การใช้อำนาจหัวหน้า คสช. จึงต้องใช้ตามรัฐธรรมนูญด้วย ดังนั้น การออกคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 จึงไม่เข้าเงื่อนไขการใช้ ม.44

ส่วนในการยื่นคำร้อง นายอภิสิทธิ์ระบุว่า อาจใช้ช่องทางของการไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน เนื่องจากในรัฐธรรมนูญจะเขียนไว้ค่อนข้างชัดว่า เมื่อใครได้รับความเสียหายจากการใช้อำนาจ ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่าบทบัญญัติของกฎหมายนี้มีส่วนที่แย้งกับรัฐธรรมนูญ ก็สามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญได้ ส่วนการจะส่งศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงนั้น ถ้าดูจากในรัฐธรรมนูญ จะใช้คำว่าการกระทำ ซึ่งทางคณะทำงานพรรคฯ ต้องไปพิจารณาก่อนว่า เรื่องดังกล่าวถือเป็นการกระทำหรือไม่ อีกทั้งในการส่งเรื่องนี้จะต้องอธิบายด้วยว่าการได้รับการวินิจฉัยจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างไร เพราะเรากำลังพูดถึงประโยชน์สาธารณะ ไม่เพียงเฉพาะสิทธิส่วนบุคคลของสมาชิกพรรค หรือปัญหาของพรรคการเมืองอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทิศทางของการปฏิรูปการเมือง บวกกับประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับสาธารณะคือ ต่อไปนี้การใช้อำนาจ แม้กระทั่ง ม.44 จะได้รู้ว่าอยู่ภายใต้หลักนิติธรรม อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ สามารถที่จะโต้แย้งได้ ซึ่งไม่สามารถที่จะไปจำกัดสิทธิ์ได้