กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผบก.ปปป., พ.ต.อ.สมรภูมิ ไทยเขียว รอง ผบก.ปปป.
เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.อ.ศานุวงษ์ คงคาอินทร์ ผกก.4 บก.ปปป. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4บก.ปปป. ร่วมกันจับกุมผู้ต้องหา นายอัตพรฯ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 ที่ จ.21/2567 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2567 โดยกล่าวหาว่า การใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต (มาตรา 8, 9, 11 ของ พ.ร.บ. ความผิดของพนักงานในองค์การของรัฐ),การละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ (มาตรา 123/1 ของ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทุจริต),การใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ (มาตรา 188, 269/5 ป.อาญา) และ ความผิดฐานฉ้อโกง (มาตรา 341 ป.อาญา) สถานที่จับกุม บริเวณบ้านพักอาศัยใน ต.บ้านไร่ อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์
พฤติการณ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. นำโดย พ.ต.อ.ศานุวงษ์ คงคาอินทร์ ผกก.4 บก.ปปป. พร้อมทีมงาน ปปท. และ ปปช. นำหมายค้นของศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 ที่ ค.อท.1/2567 ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2567 ได้เข้าตรวจค้นบ้านพักแห่งหนึ่งพื้นที่ตำบลบ้านไร่ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมจับกุมตัว นายอัตพรฯ อดีตพนักงานพัฒนาธุรกิจ ระดับ 5–7 ธนาคารแห่งหนึ่ง ในจังหวัดนครสวรรค์ ตามหมายจับศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 ที่ จ.21/2567 ลงวันที่ 25ตุลาคม 2567 ในข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตในหน้าที่ราชการ รวมถึงการฉ้อโกงและการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ
สืบเนื่องมาจาก ต้นเดือนเมษายน 2556 นายอัตพรฯ เคยดำรงตำแหน่งพนักงานพัฒนาธุรกิจ ระดับ 5–7 ธนาคารแห่งหนึ่ง ในจังหวัดนครสวรรค์ ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2555 – 20 มกราคม 2559 ได้กระทำการทุจริต ที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ในด้านสินเชื่อหลายกรณี ดังนี้ การใช้บัตรเอทีเอ็มของผู้อื่น (กรกฎาคม – สิงหาคม 2556) นายอัตพรฯ อ้างเหตุฉุกเฉินส่วนตัวให้ผู้เสียหายยอมกู้เงินแทนและมอบบัตรเอทีเอ็ม พร้อมรหัส โดยผู้เสียหายไม่ประสงค์กู้เงิน แต่ผู้ถูกกล่าวหาได้ถอนเงิน 20,000 บาท มาใช้ส่วนตัวโดยมิชอบและกระทำซ้ำรูปแบบเดิม (สิงหาคม – กันยายน 2556) ผู้ถูกกล่าวหายังคงใช้วิธีการเดิมให้ผู้เสียหายยอมกู้เงินอีกครั้ง จำนวน 20,000 บาท โดยเบิกถอนเงินผ่านบัตรเอทีเอ็มที่ยืมมาเพื่อประโยชน์ส่วนตัว,ปลอมแปลงสัญญาเงินกู้ (มีนาคม 2557)ผู้เสียหายลงชื่อในเอกสารสัญญากู้เงินโดยไม่ได้กรอกข้อมูลรายละเอียด เงินกู้ 100,000 บาทถูกโอนเข้าบัญชีผู้เสียหาย แต่ถูกถอนโดยผู้กล่าวหาผ่านบัตรเอทีเอ็ม รวม 95,000 บาท ,สัญญาเงินกู้ปลอม (ตุลาคม 2557) ผู้ถูกกล่าวหาทำสัญญาเงินกู้ 60,000 บาท โดยให้ผู้เสียหายลงชื่อโดยไม่ทราบรายละเอียด และถอนเงินทั้งหมดโดยมิชอบ,สร้างเอกสารมอบอำนาจหลอกลวง (กุมภาพันธ์ 2558)ผู้เสียหายถูกหลอกให้ลงชื่อในสัญญากู้เงิน 200,000 บาท พร้อมเอกสารมอบอำนาจที่ว่างเปล่า จากนั้นผู้ถูกกล่าวหาถอนเงินทั้งหมดมาใช้,ใช้เงินจากสัญญากู้ซ้ำ (มีนาคม 2558) สัญญาเงินกู้ 150,000 บาทถูกปลอมแปลง และเงินในบัญชีของผู้เสียหายถูกถอนออกทั้งหมดโดยผู้ถูกกล่าวหา,การเรียกรับค่าทำเอกสารโดยมิชอบ (ตุลาคม 2558) ทำสัญญาเงินกู้ 590,000 บาท ให้ผู้เสียหายโดยเรียกค่าทำสัญญาเป็นเงิน 30,000 บาท แต่ผู้เสียหายไม่มีให้ จึงขอรับเงินจำนวน 3,560 มาใช้ส่วนตัวโดยมิชอบ รวมชาวบ้านเสียหายกว่า 7 ราย ความเสียหายกว่า 5 แสนบาท
จนต้องร้องเรียนไปยังตำรวจ บก.ปปป. ให้มีการตรวจสอบและดำเนินคดี เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. และ ป.ป.ช. จึงได้ร่วมกันสืบสวนกระทำดังกล่าว ที่มีการอาศัยโอกาสที่ตนเองมีอำนาจหน้าที่ขู่เข็ญ หลอกลวงชาวบ้านที่มากูยืมเงินเพื่อไปทำมาหากิน แต่กลับต้องถูกเจ้าหน้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจในการเรียกรับเงินและหลอกให้กู้เงินมาให้ โดยที่ชาวบ้านไม่รู้ตัว ด้วยความเชื่อมั่นและเชื่อใจในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงได้ทำการออกหมายจับ สืบสวนจนพบตัว และทำการจับกุมในครั้งนี้
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) จึงขอฝากถึงพี่น้องประชาชนว่า ให้ระมัดระวังการเรื่องเอกสารในการติดต่อสถาบันการเงิน โดยกระทำในลักษณะนี้ที่ยังมีให้พบเห็นได้ทั่วไป แต่อาจจะยังไม่ได้ถูกตรวจสอบหรือนำมาเปิดเผย เนื่องจากข้าราชการที่ใช้อำนาจหน้าที่ของตนเองในการกดขี่ประชาชนและเรียกรับกระทำการ ในลักษณะใช้ความเชื่อใจของชาวบ้านหลอกลวงอย่างแนบเนียน และยากแก่การเข้าถึงข้อมูล ทำให้ท่าน อาจถูกเอารัดเอาเปรียบโดยใช่เหตุ และขอเตือนข้าราชการที่กระทำการในลักษณะเดียวกันนี้ ขอให้หยุด การกระทำ เพราะตำรวจ บก.ปปป. จะไม่ปล่อยให้ท่านลอยนวลอยู่อย่างแน่นอน สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น รับสารภาพ