นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค ภายใต้ชื่อเรื่องว่า “ใครจะตรวจสอบรัฐบาลประยุทธ์ได้?” โดยระบุว่า “รัฐบาลทหารมักจะถูกวิจารณ์ว่ารับใช้นายทุน!
ในคณะโรดโชว์ของไทยที่ไปเยือนประเทศจีนไม่นานมานี้ นักข่าวโพสต์ทูเดย์บันทึกคำสัมภาษณ์นายทุนระดับชาติคนหนึ่ง …
“โครงการรถไฟความเร็วสูง .. เส้นทางกรุงเทพ-ระยอง (สายตะวันออก) ท่านนายกฯ ต้องการให้ ** (นายทุนคนนี้) ทำ …
ส่วนกลุ่ม ** (นายทุนคนนั้น) จะลงทุนในสายตะวันตก กรุงเทพ-หัวหิน”
ไม่เหมาะสำหรับตำแหน่งผู้นำรัฐบาลครับ ถ้าพลเอกประยุทธ์คิดหรือพูดอย่างนั้นจริง
และไม่ว่านายกฯ คนใด คิดจะแบ่งพื้นที่ประเทศไทย ให้นายทุนหาประโยชน์ตามใจชอบของตน เราคนไทยและลูกหลาน ไม่มีอนาคตอย่างแน่นอน
ในวันนี้ จึงตั้งคำถามว่า ใครจะตรวจสอบรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้?
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ท่านนายกฯ กล่าวว่ารัฐบาลของท่านยึดหลักธรรมาภิบาล และย้อนถามว่ารัฐบาลอื่นทำหรือไม่?
รัฐบาลอื่นที่มาจากการเลือกตั้งนั้น จะมีรัฐสภาตรวจสอบ ซึ่ง สส./สว. เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญการเจาะลึกข้อมูล การวิเคราะห์ให้ประชาชนเข้าใจทะลุปรุโปร่ง
และในสภาวะปกติ สื่อมวลชนก็จะสนใจและรายงานการตรวจสอบของฝ่ายค้านมาก
แต่สำหรับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์นั้น มีปัญหาการตรวจสอบมากเป็นพิเศษ
-เพราะผู้นำปฏิวัติ มาดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำรัฐบาลควบคู่กัน ระบบ ‘ชงเอง ชิมเอง’ ไม่มีการถ่วงดุล
-เพราะท่านแต่งตั้งพวกพ้องเพื่อนฝูง แทนที่จะเน้นนักวิชาการหัวแข็ง อย่างสมัยจอมพลสฤษดิ์
-มีการเชิญบุคคลไปปรับทัศนคติ มีการฟ้องคดีผู้ที่วิจารณ์ในโซเชียลมีเดีย
-พรรคพวกที่แต่งตั้งเป็น สนช. ไม่กล้าท้าทายรัฐบาล เหมือนปฏิวัติครั้งก่อน
-มีภาพการเข้าไปแทรกแซงองค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น
ถึงแม้ สนช. แถลงข่าวว่า ตั้งหลายสิบกระทู้ตรวจสอบรัฐบาล แต่เมื่อ สนช. เล็งอยากจะเป็น 250 สว. ชุดใหม่ ประชาชนจะหวังให้ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลจริงจังไม่ได้เลย
และสื่อหลักส่วนใหญ่ก็ไม่กล้าขุดคุ้ยเหมือนเดิม เพราะธุรกิจยักษ์ใหญ่ต่างๆ ที่หนุนหลังรัฐบาลนั้น ทรงพลังอำนาจผ่านงบโฆษณา
ถามว่าควรตรวจสอบรัฐบาลประยุทธ์เรื่องใด?
เรื่องที่ผมจะเรียกร้องในเวทีคณะตรวจสอบภาคประชาชนในวันที่ 5 ตุลาคม 2561 คือ
1. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แถมที่ดินมักกะสัน 500 ไร่ ที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ห้าทรงพระราชทานไว้ใช้เพื่อกิจการรถไฟ
เป็นแผนการให้นายทุนได้ใช้ที่ดินของรัฐ ในราคาถูกมหาศาล ใช่หรือไม่?
เป็นช่องทางที่รัฐบาลจะอนุญาตให้บริษัท ปตท. เข้าร่วมทำธุรกิจโครงการนี้ ทั้งที่ไม่เกี่ยวกับพลังงาน และทั้งที่จะเป็นการแข่งขันกับเอกชน ใช่หรือไม่?
2. โครงการพัฒนาเมืองใหม่ฉะเชิงเทรา จะมีการให้นายทุนใช้ที่ดิน 4 พันไร่ ที่ตำบลโยธะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว ของกองทัพเรือ ในราคาถูก ใช่หรือไม่?
กองทัพเรืออ้างว่าต้องการที่ดินเพื่อใช้ในงานกองทัพ แต่แท้จริงจะใช้ในกิจกรรมทัพเรือ เพียงไม่กี่ไร่ ใช่หรือไม่?
และจะต้องไล่ที่ประชาชน ที่ใช้พื้นที่นี้อยู่เดิม ใช่หรือไม่?
นายทุนคนหนึ่งที่ไล่ซื้อที่ดินนับพันนับหมื่นไร่ในภาคตะวันออก ก่อนหน้าคนอื่น ก่อนหน้าการประกาศโครงการ อีอีซี ได้ข้อมูลล่วงหน้า หรือไม่?
3. โครงการขยายสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นแผนการเอื้อประโยชน์แก่ทรัพย์สินของนายทุน ใช่หรือไม่?
และ ทีโออาร์ ดิวตี้ฟรี ที่ไม่เป็นสากล เพื่อจะให้นายทุนได้สิทธิ ดิวตี้ฟรี ในราคาถูก ใช่หรือไม่?
โครงการเปิดจุดคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ให้สิทธิเฉพาะแก่ร้านสะดวกซื้อของนายทุนรายเดียว ทั้งที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ซื้อสินค้าจากผู้ค้าปลีกรายใหญ่ เป็นธรรมหรือไม่?
4. โรงงานยาสูบที่กำไรมาตลอด 78 ปี เกิดมีการออกกฎกระทรวงการคลังใหม่ ทำให้ไม่สามารถแข่งกับบุหรี่นำเข้า
โครงสร้างภาษีใหม่ทำให้ขาดทุนจำนวนมาก ต้องตรากฎหมายใหม่เพื่อตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจ
และโรงงานกลับขอให้โอนที่ดินถนนพระราม 4 จำนวน 600 ไร่เข้าเป็นทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นใหม่ ทั้งที่การย้ายโรงงานไปตั้งที่อยุธยาก็เกือบจะเสร็จอยู่แล้ว
เป็นแผนการให้นายทุน ได้ใช้ที่ดินของรัฐ ในราคาถูกมหาศาล ใช่หรือไม่?
ขอถามว่า ถ้าหากรัฐบาลทหารรับใช้นายทุน ใครจะตรวจสอบได้?”
"ใครจะตรวจสอบรัฐบาลประยุทธ์ได้?"…
โพสต์โดย Thirachai Phuvanatnaranubala – – ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม 2018