ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค ภายใต้ชื่อเรื่อง “แปลก! สร้างเทอร์มินัล 2 ถึงเกือบ 4 แสนตรม. แต่หลุมจอดเครื่องบินยังเท่าเดิม” โดยระบุว่า “ผมได้โพสต์บทความกรณีบริษัท ท่าอากาศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (เทอร์มินัล 2) บนตำแหน่งที่ผิดแผนแม่บทมาแล้ว 3 บทความ โดยได้ชี้ให้เห็นว่า (1) เหตุใด ทอท.จึงไม่ขยายเทอร์มินัล 1 ด้านทิศตะวันออกตามแผนที่วางไว้ (2) เทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บทเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และ (3) ผลเสียที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ซึ่งผิดแผนแม่บทตามที่กลุ่มที่ปรึกษาของ ทอท.ได้ทักท้วง ทั้งนี้ ผมได้แสดงเอกสารเป็นหลักฐานประกอบทุกบทความ ซึ่งทำให้ผู้ติดตามสามารถเข้าใจได้ว่า มีอะไรเกิดขึ้นกับโครงการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บท
บทความนี้ผมจะชี้ให้เห็นว่า การที่ ทอท.จะก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเทอร์มินัล 1 ซึ่งผิดไปจากตำแหน่งในแผนแม่บทที่ได้ระบุให้ก่อสร้างทางด้านใต้ของเทอร์มินัล 1 หรือทางฝั่งถนนบางนา-ตราด แม้จะมีพื้นที่ใช้สอยมากมายถึง 348,000 ตารางเมตรก็ตาม แต่การก่อสร้างเทอร์มินัล 2 นั้นไม่ได้ทำให้หลุมจอดเครื่องบินเพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่าขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิก็จะไม่เพิ่มขึ้น
กล่าวคือ การจะเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินได้นั้นจะต้องเพิ่มทั้งพื้นที่เทอร์มินัลและหลุมจอด หรือกล่าวได้ว่าจะต้องเพิ่มพื้นที่ทั้งนอกเขตการบิน (Landside หรือแลนไซด์) และในเขตการบิน (Airside หรือแอร์ไซด์) มิฉะนั้น จะทำให้เกิด “คอขวด” ที่แลนด์ไซด์หรือแอร์ไซด์ได้ หากเกิดคอขวดที่แลนด์ไซด์รถเข้าออกสนามบินก็จะติด หรือจะมีผู้โดยสารในอาคารแออัด แต่ถ้าเกิดคอขวดที่แอร์ไซด์เครื่องบินเข้าออกหลุมจอดก็จะติด ซึ่งจะทำให้ขีดความสามารถของสนามบินไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
เวลานี้สนามบินสุวรรณภูมิมีหลุมจอดเครื่องบินรวมทั้งหมด 124 หลุม ประกอบด้วย (1) หลุมจอดประชิดอาคารหรือเทอร์มินัล 1 (Contact Gate) โดยมีสะพานเทียบเครื่องบินจำนวน 51 หลุม (2) หลุมจอดระยะไกล (Remote Parking) ซึ่งผู้โดยสารต้องนั่งรถออกไปขึ้นเครื่องจำนวน 48 หลุม (3) หลุมจอดสำหรับเครื่องบินขนส่งสินค้าจำนวน 20 หลุม และ (4) หลุมจอดเครื่องบินที่รอการซ่อมบำรุงรักษาจำนวน 5 หลุม
ทอท.บอกว่าการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 จะมีหลุมจอดประชิดอาคารจำนวน 14 หลุม แต่หลุมจอดเหล่านี้เดิมใช้เป็นหลุมจอดเครื่องบินระยะไกล ด้วยเหตุนี้ จำนวนหลุมจอดจึงไม่เพิ่มขึ้น ยังคงมีเท่าเดิมคือ 124 หลุม ซึ่ง ทอท.ก็ได้ระบุไว้ในรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ในหน้าที่ 1-21 ถึงข้อเสียในการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 บนตำแหน่งดังกล่าวว่า “ไม่ได้เพิ่มจำนวนหลุมจอดอากาศยาน เนื่องจากหลุมจอดหน้าอาคารหลังใหม่เดิมเป็นหลุมจอดอากาศยานระยะไกลแบบค้างคืน” นั่นหมายความว่า ทอท.ได้ปรับเปลี่ยนการใช้หลุมจอดจากหลุมจอดระยะไกลจำนวน 14 หลุม เป็นหลุมจอดประชิดอาคารจำนวน 14 หลุม จึงทำให้จำนวนหลุมจอดมีเท่าเดิม ดังนั้น ขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิในภาพรวมก็จะไม่เพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ การก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ให้มีพื้นที่ใช้สอยถึง 348,000 ตารางเมตร จะช่วยได้เพียงบรรเทาความแออัดของผู้โดยสารในเทอร์มินัล 1 เท่านั้น แต่ไม่ได้ช่วยทำให้ขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารของสนามบินเพิ่มขึ้น
ในขณะนี้มีหนทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ขีดความสามารถของสนามบินเพิ่มขึ้น นั่นคือ ทอท.จะต้องใช้หลุมจอดของอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite Terminal 1 หรือ SAT1) ซึ่งมีจำนวน 28 หลุมช่วยด้วย ก็จะทำให้มีหลุมจอดเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 152 หลุม (124+28) ทั้งนี้ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บทและแผนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 (ปีงบประมาณ 2554-2560) โดยแผนนี้ได้รวมการขยายเทอร์มินัล 1 ด้านตะวันออกซึ่งมีวงเงินลงทุน 4,825.5 ล้านบาทเอาไว้ด้วย ทั้งนี้ ทอท.บอกว่าจะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 15 ล้านคนต่อปี ดังนั้น หากขยายเทอร์มินัล 1 ทั้งด้านตะวันออกและด้านตะวันตกก็จะทำให้ขีดความสามารถเพิ่มขึ้น 30 ล้านคนต่อปี ซึ่งผมเห็นว่าจะต้องใช้หลุมจอดของอาคารเทียบเครื่องบินรองช่วยด้วย แต่น่าเสียดายที่ ทอท.ยกเลิกการขยายเทอร์มินัล 1 ด้านตะวันออก ทั้งๆที่ ได้ออกแบบไว้เรียบร้อยแล้ว ทอท.อ้างว่าจะขยายด้านตะวันตกแทน แต่ทำไมจึงไม่ขยายทันทีในตอนนี้เลย และทำไมจึงยกเลิกการขยายด้านตะวันออก ซึ่ง ทอท.ไม่เคยชี้แจงประเด็นนี้เลย ที่สำคัญ การยกเลิกการขยายเทอร์มินัล 1 ด้านตะวันออกนั้นถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2553 ซึ่งได้เห็นชอบให้ ทอท.ขยายเทอร์มินัล 1 ด้านตะวันออก
เทอร์มินัล 2 จะมีหลุมจอดเครื่องบินประชิดอาคาร 14 หลุม ซึ่ง ทอท.คุยว่าจะรองรับผู้โดยสารได้ถึง 30 ล้านคนปี แต่ผมเห็นว่าเป็นไปไม่ได้แน่ หากไม่ใช้หลุมจอดของอาคารเทียบเครื่องบินรองช่วยด้วย อย่างไรก็ตาม การใช้หลุมจอดของอาคารเทียบเครื่องบินรองจะทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวกสบาย เพราะจะต้องใช้บริการรถไฟฟ้าไร้คนขับ (Automated People Mover หรือเอพีเอ็ม) จากเทอร์มินัล 2 ไปสู่เทอร์มินัล 1 ซึ่งเป็นเอพีเอ็มลอยฟ้า ต่อจากนั้นจะต้องเปลี่ยนไปใช้เอพีเอ็มใต้ดินจากเทอร์มินัล 1 ไปสู่อาคารเทียบเครื่องบินรองเพื่อรอขึ้นเครื่องต่อไป
ในเมื่อเทอร์มินัล 2 ซึ่งมีวงเงินก่อสร้างถึง 42,084 ล้านบาท จะต้องใช้หลุมจอดของอาคารเทียบเครื่องบินรองช่วยด้วยเช่นเดียวกับการขยายเทอร์มินัล 1 ในขณะที่การขยายเทอร์มินัล 1 ออกไปทั้ง 2 ด้าน จะใช้เงินประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้สนามบินมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น 30 ล้านคนต่อปี และเป็นไปตามแผนแม่บท อีกทั้ง ผู้โดยสารที่ใช้เทอร์มินัล 1 จะได้รับความสะดวกมากกว่าการใช้เทอร์มินัล 2 เพราะใช้เอพีเอ็มใต้ดินเพียงสายเดียวเพื่อไปสู่อาคารเทียบเครื่องบินรอง ดังนั้น ทอท.ควรเลือกที่จะขยายเทอร์มินัล 1 ไม่ควรดื้อดึงที่จะสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บท หลังจากนั้นก็ควรสร้างเทอร์มินัล 2 ฝั่งถนนบางนา-ตราด ตามแผนแม่บทต่อไป
โดยสรุป การขยายเทอร์มินัล 1 ทั้งทางด้านตะวันออกและด้านตะวันตกจะมีข้อได้เปรียบกว่าการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บทดังนี้
1. ใช้เวลาสั้นกว่า
2. ใช้เงินน้อยกว่าถึงประมาณ 32,000 ล้านบาท
3. ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายมากกว่า เพราะใช้เอพีเอ็มใต้ดินเพียงสายเดียวเพื่อไปสู่อาคารเทียบเครื่องบิน ต่างกับการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวกสบาย เพราะจะต้องใช้ทั้งเอพีเอ็มลอยฟ้าและเอพีเอ็มใต้ดิน
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงใคร่ขอเรียนเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาดังนี้
1. ให้ ทอท.ขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ด้านตะวันออกและด้านตะวันตกแทนการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ซึ่งผิดแผนแม่บท
2. ให้ ทอท.สร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ฝั่งถนนบางนา-ตราด ตามแผนแม่บท
ทั้งหมดนี้ ผมไม่ต้องการให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อสนามบินสุวรรณภูมิอันเป็นที่รักของเราทุกคน”