นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย แถลงการณ์ เรื่อง จับข้อพิรุธของการจัดโควตานมโรงเรียนเอื้อผลประโยชน์ทุจริตต่อหน้าที่ โดยมีเนื้อหาใจความว่า ตามที่เกิดปัญหาเกี่ยวกับนมโรงเรียน จากกรณีนมโรงเรียนไม่มีคุณภาพในโรงเรียนไผทอุดมศึกษา จนมีการสั่งระงับไม่ให้เด็กดื่มกินได้ โดยครูโรงเรียนดังกล่าวได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.) จนกระทั่ง รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ ทำการตรวจสอบสอบข้อเท็จจริง และลงโทษ ผู้ได้โควต้านมล็อตนี้ คือ สหกรณ์โคนมไทยมิลค์ ซึ่ง อสค.ได้ดำเนินการจัดหานมจากสหกรณ์โคนมอื่นมาทดแทนแล้วนั้น
นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า ล่าสุดได้มีการประชุมกันของคณะอนุกรรมการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมาที่กรมปศุสัตว์ ซึ่งมีวาระการพิจารณาเกี่ยวกับคุณภาพของน้ำนมดิบ และผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนที่ไม่เป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมอยู่ด้วย แต่ปรากฏว่ามีการให้ผู้เชี่ยวชาญของ อ.ย. ที่ทราบข้อเท็จจริงของคุณภาพของน้ำนมดิบ และผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนของแต่ละสหกรณ์โคนม ให้ออกจากห้องประชุมโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงเป็นเหตุให้ไม่มีการพิจารณาลงโทษผู้ประกอบการที่ถูกตัดสิทธิ ลดสิทธิ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ส่งผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพตัวอย่างนมโรงเรียน ภาคเรียนที่ 1/2561 ครั้งที่ 3 ตามหนังสือของ อ.ย. ด่วนที่สุด ที่ สธ 1010.5/8963 ลงวันที่ 13 ก.ค.2561 แต่อย่างใด ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพตัวอย่างนมโรงเรียนของสหกรณ์โคนมแห่งหนึ่งในจังหวัดสระแก้ว ชนิด UHT พบมีค่ามันเนย (fat) รวมกับเนื้อนมไม่รวมมันเนย (solid not fat) น้อยกว่าร้อยละ 11.95 ซึ่งตามประกาศของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมจะต้องถูกลดสิทธิการจำหน่ายลงมา 25% แต่ในที่ประชุมดังกล่าวกลับไม่มีการพิจารณาลงโทษแต่อย่างใด
“นอกจากนั้น ผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพตัวอย่างนมโรงเรียนชนิด UHT ภาคเรียนที่ 1/2561 ครั้งที่ 4 พบการปนเปื้อนของแบคทีเรียในน้ำนมโค 1 มิลลิลิตร เกิน 10,000 โคโลนี ซึ่งไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 350 เรื่อง นมโค จำนวน 1 แห่ง แถว ๆ อำเภอปากช่อง โคราช ซึ่งคณะอนุกรรมการพิจารณาความผิดและกำหนดโทษและพิจารณาอัตราเบี้ยปรับ เห็นชอบให้ลดสิทธิลงจำนวน 32.6052 ตัน/วัน และลดสิทธิการจำหน่ายจำนวน 208,477 ถุง-กล่อง/วัน แต่คณะอนุกรรมการฯกลับไม่มีการพิจารณาลงโทษแต่อย่างใด” นายศรีสุวรรณ กล่าว
นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า นอกจากนั้น ในการประชุมดังกล่าวคณะอนุกรรมการนมโรงเรียน ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของ ป.ป.ช. กรณี ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามาพิจารณาหลักเกณฑ์การจัดสรรโควต้านม ทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interests) และไม่เป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการรายอื่น เช่น สหกรณ์โคนมไทยมิลค์ ถูกตัดสิทธิการจำหน่ายให้โรงเรียนไผทศึกษา อสค.ได้มอบสิทธิการจำหน่ายให้สหกรณ์โคนมมวกเหล็กแทน ต่อมาสหกรณ์โคนมมวกเหล็ก ถูกตัดสิทธิการจำหน่าย กรณีนม UHT มีลักษณะผิดปกติ(รสเปรี้ยว) ที่โรงเรียนวรพิมพ์ กทม. อสค.กลับมอบสิทธิที่ถูกตัดไปให้แก่สหกรณ์โคนมไทยมิลค์ จึงเห็นได้ชัดว่าอาจเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนหรือการเอื้อประโยชน์ให้กันและกัน อันเข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่โดยชัดแจ้ง
“ด้วยเหตุดังกล่าวสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยเห็นว่าเป็นการใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรมและอาจเข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่ตามที่กฎหมาย ป.ป.ช.บัญญัติ จึงจำต้องนำความพร้อมพยานหลักฐานไปร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการสอบสวนและไต่สวนเพื่อวินิจฉัยเอาผิดคณะอนุกรรมการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนทั้งคณธต่อไป โดยจะเดินทางไปยื่นคำร้องในวันจันทร์ที่ 8 ต.ค.2561 เวลา 10.30 น. ณ สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนสนามบินน้ำ นนทบุรี” นายศรีสุวรรณ กล่าว