ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก.,พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ., พ.ต.อ.จักรกริช เสริบุตร รอง ผบก.ปอศ., พ.ต.อ.วิจักขณ์ ตารมย์ รอง ผบก.ปอศ., พ.ต.อ.ชัชวาล ชูชัยเจริญ ผกก.2 บก.ปอศ. และ พ.ต.ท.วาทิต จิตรจันทึกรอง ผกก.2 บก.ปอศ.
เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ท.หญิง วณิชยา ไชยปรุง สว.กก.2 บก.ปอศ.,
พ.ต.ท.พีระพัฒน์ สุทธเสนา สว.กก.2 บก.ปอศ., พ.ต.ท.วรรณลพ รัตนวงษ์ สว.กก.2 บก.ปอศ.
พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการที่ 1, 2 และ 3 ของ กก.2 บก.ปอศ.
ร่วมกันจับกุม นางยุพาฯ อายุ 68 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดสมุทรปราการ ที่ 901/2567
ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2567 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออกและร่วมกันหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม อันเป็นความผิดตามมาตรา 90/4(3) มาตรา 90/5 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา” สถานที่จับกุม บริเวณหน้าบ้านพักในพื้นที่ ซ.เฉลิมพระเกียรติฯ ๓๘ แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร และ นางสาวปัญจรัตน์ฯ อายุ 50 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดสมุทรปราการ ที่ 902/114 วันที่ 3 ตุลาคม 2567 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออกและร่วมกันหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม อันเป็นความผิดตามมาตรา 90/4(3) มาตรา 90/5 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา” สถานที่จับกุม บริเวณหน้าบ้านพักในพื้นที่ ถนนสาธรประดิษฐ์ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร และนางสาวมาณัฐรวีฯ อายุ 45 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ที่ 903/114วันที่ 3 ตุลาคม 2567 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออกและร่วมกันหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม อันเป็นความผิดตามมาตรา 90/4(3) มาตรา 90/5 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา”
สถานที่จับกุม บริเวณหน้าบ้านพักในพื้นที่ ถนนสาธรประดิษฐ์ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร
พฤติการณ์ สืบเนื่องด้วยกรมสรรพากรได้มาร้องทุกข์ที่ กก.2 บก.ปอศ. ให้พิจารณาดำเนินคดีอาญาความผิดกับบริษัทฯ และอดีตกรรมการบริษัททั้งสิ้น 3 ราย คือ นางยุพาฯ, นางสาวปัญจรัตน์ฯ และ
นางสาวมาณัฐรวีฯ เนื่องจากช่วงเดือนมกราคม 2559 จนถึงมกราคม 2563 บริษัทได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) สำหรับเดือนมกราคม 2559 จนถึงเดือนมกราคม 2563 โดยแสดงยอดขายและยอดซื้อสูงผิดปกติ แต่เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ตรวจสอบพบว่า บริษัทดังกล่าวไม่มีการประกอบกิจการจริงและสถานประกอบกิจการเป็นบริษัทร้างฯ สิ่งปลูกสร้างได้ถูกรื้อถอนแต่มีการจดบริษัทว่าประกอบกิจการซื้อมา ขายไปสินค้าทุกประเภทตามวัตถุประสงค์ กรมสรรพากรจึงเชื่อว่าบริษัทดังกล่าว มีการออกใบกำกับภาษี โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาโดยไม่ได้มีเจตนาที่จะประกอบกิจการจริง ประกอบกับบริษัทดังกล่าวไม่ส่งมอบเอกสารให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเพื่อตรวจสอบแต่อย่างใด
นอกจากนี้กรมสรรพากรได้รับแจ้งจากสำนักงานสรรพากรพื้นที่ต่างๆ พบว่า บริษัทได้นำภาษีซื้อไปใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยไม่มีใบกำกับภาษี หรือไม่อาจแสดงได้ว่ามีการชำระภาษีซื้อ และไม่มีการประกอบกิจการจริง ถือเป็นภาษีซื้อไม่ให้นำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้การยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทฯ ไม่ถูกต้อง ทำให้จำนวนภาษีซื้อและภาษีขายในเดือนภาษีไม่ตรงกันและเห็นได้ว่าบริษัทฯ มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มกระทำการใดๆ โดยความเท็จ โดยฉ้อโกง หรืออุบาย หรือวิธีการอื่นใดในทำนองเดียวกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ฯประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 49 ฉบับ มูลค่าความเสียหายคิดเป็นเงิน 28,419,000 บาท
จากนั้นพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอศ. ได้ออกหมายเรียกเพื่อติดต่อผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย มาทราบข้อกล่าวหา แต่ไม่มีผู้ต้องหาคนใดมาพบพนักงานสอบสวนตามที่ออกหมายเรียกไป จึงเชื่อได้ว่ามีพฤติการณ์หลบหนี พนักงานสอบสวนจึงได้ขออนุญาตศาลเพื่อออกหมายจับผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่ตำรวจ
กก.2 บก.ปอศ. ได้ทำการสืบสวนจนทราบว่า ผู้ต้องหาทั้ง 3 รายหลบหนีไปที่ใด เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนจับกุม จึงได้เดินทางไปเฝ้าสังเกตการณ์บริเวณดังกล่าว เมื่อผู้ต้องหาปรากฏตัว เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้เข้าแสดงตัวและขอตรวจสอบ พบว่า เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับจริง จึงได้ดำเนินการจับกุมผู้ต้องหาทั้งหมดและนำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอศ. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น ผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา