หน้าแรกอุบัติเหตุ-ภัยพิบัตินายกฯนำทีมตรวจสถานการณ์น้ำวางแผนรับมือ

นายกฯนำทีมตรวจสถานการณ์น้ำวางแผนรับมือ

นายกฯนำทีมตรวจสถานการณ์น้ำวางแผนรับมือ

“อุ๊งอิ๊ง” นำคณะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น พร้อมเน้นย้ำทุกหน่วยงานดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรฯ นายประยูร อินสกุล ปลัดเกษตรฯ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีรรท.อธิบดีกรมชลประทาน และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแนวทางการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ กรมชลประทาน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยปัจจุบัน (ข้อมูล วันที่ 2 ต.ค.) น้ำจากพื้นที่ตอนบนในลุ่มน้ำปิง วัง ยม และน่าน ยังคงมีปริมาณฝนตกอยู่ในบางพื้นที่ ส่งผลให้มีปริมาณจากทางตอนบนทยอยไหลลงสู่ลุ่มเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 2,128 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยายกตัวสูงขึ้นตามลำดับ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานจึงได้บริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ตามศักยภาพของคลองและสอดคล้องกับปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ พร้อมควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ให้อยู่ในอัตรา 1,899 ลบ.ม./วินาที เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนให้ได้มากที่สุด

ในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้เฝ้าระวังปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดระดับน้ำ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ไม่ให้เกิน 3,000 ลบ.ม./วินาที นอกจากนี้ ยังได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง บริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ด้วยการพร่องน้ำในคลองสาขาต่าง ๆ พร้อมเร่งสูบระบายน้ำส่วนเกินออกทางฝั่งตะวันออก ฝั่งตะวันตก และอ่าวไทย ซึ่งมีศักยภาพการสูบระบายน้ำรวมกันได้ประมาณวันละ 164 ล้าน ลบ.ม. ตลอดจนบูรณาการร่วมกับกรุงเทพฯ ในการบริหารจัดการน้ำในจุดที่เชื่อมต่อกัน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนและปริมาณน้ำในพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนและพื้นที่เศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ในช่วงวันที่ 1 – 3 ต.ค. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้ ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีลักษณะอากาศแปรปรวน โดยจะมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล และภาคตะวันออก ประกอบกับกรมอุทกศาสตร์ทหารเรือได้คาดการณ์ในช่วงวันที่ 28 ก.ย. – 2 ต.ค. จะเกิดสถานการณ์น้ำทะเลหนุนอีกครั้ง ซึ่งอาจส่งผลให้พื้นที่เสี่ยงบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำท่าจีน ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราว และบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จ.สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น จึงยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ในระยะนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป

ด้าน ศ.ดร.นฤมล ได้เน้นย้ำกับกรมชลประทาน และทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ให้จัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ พร้อมจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ให้พร้อมเข้าปฏิบัติงานอย่างทันท่วงที และวางแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังได้เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาเห็นชอบงบกลางเพื่อเยียวยาความเสียหายของภาคเกษตรที่เกิดจากอุทกภัยต่อไป.

#Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img