กรมประมงจับมือ กฟผ. ร่วมวิจัยและพัฒนาติดตั้งโซลาร์เซลล์ทุ่นลอยน้ำและระบบยึดโยงในทะเล

88

โซลาร์เซลล์ทุ่นลอยน้ำเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง

กรมประมงจับมือ กฟผ. ร่วมวิจัยและพัฒนาติดตั้งโซลาร์เซลล์ทุ่นลอยน้ำและระบบยึดโยงในทะเล เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง นำร่องจ.ภูเก็ต

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การวิจัยและพัฒนาติดตั้งโซลาร์เซลล์ทุ่นลอยน้ำและระบบยึดโยงในทะเล ณ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ต.บางกรวย อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ซึ่งการลงนามนี้จะทำให้เกิดโครงการศึกษาหรือวิจัยร่วมกันด้านวิศวกรรมระบบยึดโยงสำหรับทุ่นลอยน้ำและเทคโนโลยีพลังงาน การพัฒนาด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้าสำหรับกรมประมงในพื้นที่ทะเลและชายฝั่ง เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การศึกษาผลกระทบต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศในบริเวณพื้นที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์ทุ่นลอยน้ำและบริเวณใกล้เคียง รวมถึงการพัฒนาด้านนวัตกรรมใหม่อื่น ๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงานและด้านอาหารของประเทศ

นายบัญชา กล่าวว่า การวิจัยและพัฒนาติดตั้งโซลาร์เซลล์ทุ่นลอยน้ำและระบบยึดโยงในทะเล ที่จะดำเนินการร่วมกันระหว่างกรมประมงและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะช่วยส่งเสริมศักยภาพของทั้ง 2 หน่วยงาน และบุคลากรในการพัฒนาความสามารถด้านการวิจัยและด้านเทคโนโลยีพลังงาน ในพื้นที่ทะเลและชายฝั่ง ซึ่งจะเกิดนวัตกรรมด้านการผลิตและจ่ายพลังงานไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในการผลิตสัตว์น้ำของกรมประมง ตลอดจนเกษตรกรชาวประมง ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง และการพัฒนาอุตสาหกรรมประมง ตามนโยบายของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรฯ ซึ่งสานต่อนโยบายเดิมในการขับเคลื่อนงานด้านการเกษตร โดยมุ่งเน้นการจัดการทรัพยากรทางเกษตร ด้วยการทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกด้านการเกษตร โดยผลักดันนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” นอกจากนี้ จะเกิดโครงการศึกษาหรือวิจัยร่วมกันด้านทรัพยากรทางทะเล สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศบริเวณพื้นที่โครงการศึกษาหรือวิจัยและพื้นที่บริเวณโดยรอบ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประชาสัมพันธ์และสื่อสารสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ความมั่นใจให้กับชุมชนต่อไป และในอนาคตมีการขยายความร่วมมือไปยังชุมชน กลุ่มเกษตรกร เพื่อใช้เป็นพลังงานทางเลือกในการลดต้นทุนการผลิตสัตว์น้ำ ทดแทนพลังงานจากฟอสซิลซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และเป็นสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกในปัจจุบัน

ด้าน นายประพันธ์ เปิดเผยว่า นับเป็นการทำงานร่วมกันของสององค์กรระดับประเทศโดยกรมประมงจะให้การสนับสนุนข้อมูล องค์ความรู้ และทรัพยากรที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการศึกษาหรือวิจัยร่วมกันและดำเนินการขับเคลื่อนการนำผลงานการศึกษาหรือวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ด้านการประมงของประเทศ โดยเริ่มนำร่องที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งภูเก็ต คาดจะใช้พื้นที่ในการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำในทะเลประมาณ 2 – 3 ไร่ กำลังการผลิตประมาณ 100 – 150 กิโลวัตต์ นับเป็นก้าวสำคัญของวงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งในการขับเคลื่อนการเข้าสู่สังคมแห่ง “คาร์บอนต่ำ” ที่เป็นกระแสในปัจจุบัน และเป็นแนวโน้มความต้องการของตลาดในอนาคตอันใกล้อีกด้วย.

#Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์#กรมประมง#กฟผ.