นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูฐไทย กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้จัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะตั้งแต่ปี 2557 และได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการย้ายรถตู้โดยสารสาธารณะเข้าไปอยู่ยังพื้นที่ต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาลนั้น ผู้ประกอบการรถตู้โดยสารสาธารณะทั้งหมดมิได้ขัดข้องต่อการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวแต่อย่างใด พร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลและทางราชการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ผู้ประกอบการรถตู้สายต่างๆ กำลังได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะรถตู้โดยสารสาธารณะ หมวด 2 หมวด 3 จำนวนประมาณ 2,200 คัน(วันที่ 30 กันยายน 2561 รถหมวด 2 จะหมดอายุ 200 คัน และปี 2562 จะหมดอายุอีก 2,000 คัน ปี 2563-2564 จะหมดอายุทั้งหมด) ที่กำลังถูกการใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรมและเลือกปฏิบัติจากหน่วยงานราชการ คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) คณะกรรมการจัดระเบียบรถตู้ กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ ที่มีคำสั่งให้รถหมวด 1 จำนวน 1,800 คัน และรถหมวด 2 จำนวน 200 คัน หยุดวิ่งบริการรับส่งผู้โดยสาร ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2561 นี้เป็นต้นไป เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการรถตู้โดยสารและผู้โดยสารเดือดร้อนกันทั่วหน้า โดยที่การกำหนดนโยบายหรือมาตรการขึ้นมารองรับของหน่วยงานราชการนั้น ไม่สะท้อนการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม แต่กลับเป็นไปในลักษณะของการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายรถมินิบัส เป็นหลัก
ทั้งนี้ในปัจจุบันของผู้ประกอบการรถตู้โดยสารสาธารณะที่จะหมดอายุปี พ.ศ.2561 – 2563 นี้ มีประเด็นความเดือดร้อนเร่งด่วนที่จะขอกราบเรียนมายัง ฯพณฯนายกรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้มีการแก้ไขปัญหาให้ 3 ข้อ ดังนี้
1.นโยบายการเปลี่ยนรถตู้โดยสารสาธารณะเป็นรถมินิบัส
ขอให้เป็นไปโดยภาคความสมัครใจไม่ใช่บังคับให้เปลี่ยนเป็นมินิบัสอย่างเดียว คือเส้นทางไหนประชาชนเดินทางมาก รายได้ดี ผู้ประกอบการก็พร้อมที่จะเปลี่ยนมินิบัส แต่บางเส้นทางที่ประชาชนเดินทางน้อย รายได้ก็น้อยตาม เพราะรถบัสมี 20 ที่นั่ง ผู้โดยสารไม่เต็มคัน ไม่เพียงพอผ่อนรถมินิบัส ซึ่งมีราคาสูง เกิดปัญหาหนี้สินตามมา เส้นทางนั้นก็เหมาะที่จะใช้รถตู้มากกว่า ดังนั้นจึงขอให้เป็นภาคสมัครใจของผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ การบังคับให้ผู้ประกอบการรถตู้โดยสารสาธารณะต้องเปลี่ยนรถตู้โดยสารไปเป็นรถมินิบัส 20 ที่นั่ง โดยมีข้ออ้างว่าเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร และเพื่อลดอุบัติเหตุนั้น เหตุผลดังกล่าวไม่สามารถตอบสนองต่อเหตุผลข้อความจริง เพราะการเกิดอุบัติเหตุของรถตู้ที่ผ่านมา ไม่ใช่มีสาเหตุหลักมาจากสภาพของรถ แต่หากมีปัจจัยหลายประการที่นำมาซึ่งอุบัติเหตุ เช่น สภาพร่างกายของผู้ขับขี่ สภาพของถนน และสภาพของผู้ขับขี่ยานยนต์คันอื่นๆ สภาพของเครื่องหมายการจราจร เป็นต้น และประกอบกับ คณะจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะ และคสช.ได้ใช้ ม.44 ในการบังคับให้รถตู้ทุกคันติดตั้ง GPS ควบคุมความเร็ว 90 กม./ ชม.และถอดเบาะให้เหลือ 13 ที่นั่ง เพื่อเป็นทางออกฉุกเฉิน กรณีเกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้ผู้ประกอบการก็ให้ความร่วมมือด้วยดี เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร ดังนั้นการบังคับให้ผู้ประกอบการรถตู้โดยสารสาธารณะต้องเปลี่ยนรถตู้โดยสารเป็นมินิบัสจึงไม่ตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ หากแต่จะเป็น “การเอื้อประโยชน์”ให้กับนายทุน บริษัทผู้นำเข้า ผู้ผลิตรถมินิบัสยี่ห้อต่างๆ โดยชัดแจ้ง ซึ่งผู้ที่กำหนดหรือผลักดันนโยบายหรือมาตรการดังกล่าวอาจมีผลประโยชน์แอบแฝงกับกลุ่มนายทุนรถยนต์ดังกล่าวด้วยหรือไม่ ขอให้ ฯพณฯ ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบฯข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วย
ดังนั้นผู้ประกอบการรถตู้โดยสาร จึงใคร่ขอให้ ฯพณฯสั่งการให้ทบทวนนโยบายการเปลี่ยนรถตู้โดยสารเป็นรถมินิบัส ขอให้เป็นไปโดยภาคสมัครใจไม่ใช่การบังคับและขอให้รัฐบาลกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่สมัครใจที่จะเปลี่ยนรถดังกล่าว เช่นการลดภาษีนำเข้า การปล่อยเงินกู้สินเชื่อต่ำในธนาคารของรัฐ ที่มีจำนวนน้อยให้มีหลากหลาย และปัจจุบันที่ยังมีความล่าช้าในการปล่อยสินเชื่อ และเป็นไปได้ยากมากในการขออนุมัติ
2.ขอให้ขยายอายุการใช้งานรถตู้สาธารณะทุกหมวดจากเดิมอายุไม่เกิน 10 ปี ให้มีอายุ 12-15 ปีตามสภาพรถโดยต้องผ่านการตรวจสภาพ
เนื่องจากโดยระเบียบของกรมการขนส่งทางบก มีข้อกำหนดให้รถตู้โดยสารสาธารณะทุกคัน จะต้องผ่านการตรวจสภาพจากกรมการขนส่งทางบก ทุกๆ 6 เดือนเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว การกำหนดอายุรถเพียง 10 ปี จึงไม่สอดคล้องกับสภาพของการใช้งานที่แตกต่างกันของรถตู้แต่ละคัน แต่ละเส้นทาง ดังนั้นหากจะเปรียบเทียบอายุของรถโดยสารสาธารณะในหมวดอื่น ๆ เช่น การกำหนดอายุ แต่จะใช้วิธีการตรวจสภาพรถ เป็นเครื่องกำหนดอายุของรถแทน เช่น รถโดยสารของ ขสมก. ที่บางคันมีอายุมากกว่า 20 – 30 ปีก็ยังสามารถวิ่งให้บริการอยู่บนท้องถนนของกรุงเทพมหานครได้ ทั้ง ๆ ที่มีชั่วโมงการวิ่งบริการที่มากกว่ารถตู้โดยสารหลายเท่ามากนัก ก็ยังอนุญาตให้วิ่งบริการอยู่ได้ หรือรถสองแถวบริการในซอยต่าง ๆ ก็เช่นเดียวกัน รวมทั้งรถบัสโดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัดด้วย
ข้อเสนอของการกำหนดอายุรถโดยสารสาธารณะในประเทศไทยนั้น ศ.ดร.พิชัย ธานีรณานนท์ คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ ได้นำข้อมูล 3 ส่วน คือ ด้านความปลอดภัย ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านสิ่งแวดล้อม มาพิจารณาแนวทางการกำหนดอายุรถโดยสาร ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้ พบว่า อายุที่ควรกำหนดอยู่ที่ 15 ปี บวกลบขึ้นอยู่กับประเภทรถและการบริการ ดังนั้นการที่กรมการขนส่งทางบก โดยคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง ได้มีมติกำหนดเงื่อนไขให้รถตู้โดยสารสาธารณะมีอายุเพียง 10 ปีจึงไม่สอดคล้องต่อหลักความปลอดภัย หลักการด้านเศรษฐศาสตร์ และหลักการด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นการทำลายเศรษฐกิจโดยภาพรวมของประเทศ เพราะประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตรถตู้โดยสารขึ้นมาได้เอง โดยบริษัทของคนไทย การกำหนดให้รถตู้โดยสารสาธารณะมีอายุสั้นลง จึงเป็นการ “เอื้อประโยชน์”ให้กับ นายทุน และบริษัทผู้นำเข้า รถตู้ยี่ห้อต่างๆ โดยชัดแจ้งอีกประการหนึ่งด้วย
ดังนั้นผู้ประกอบการรถตู้โดยสาร จึงใคร่ขอให้ ฯพณฯสั่งการให้กรมการขนส่งทางบกขยายอายุการใช้งานรถตู้สาธารณะทุกหมวดจากเดิมอายุไม่เกิน 10 ปี ให้มีอายุ 12-15 ปีตามสภาพรถที่ต้องผ่านการตรวจสภาพดังเหตุผลที่อธิบายแล้วข้างต้น
3.ขอให้ยังมีรถตู้หมวด 2 (ช.) ซึ่งเป็นรถจัดระเบียบในยุค คสช. ต่อไป
ด้วยรถหมวด 2 (ช.) เป็นรถที่ได้จดทะเบียนป้ายเหลืองให้โดยคณะจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะมีอายุสัญญาวิ่งได้แค่ 7 ปี ไม่สามารถเปลี่ยนรถ หรือต่อสัญญาได้ ด้วยเส้นทางของรถหมวด 2 (ช.) ส่วนมากเป็นเส้นทางใหม่ๆ ที่ไม่มีรถประจำทางวิ่ง ถ้าถูกยกเลิกไปเมื่อครบกำหนดสัญญา ประชาชนจะเดินทางลำบากไม่สะดวก เป็นเหตุให้เป็นช่องทางให้มีรถป้ายดำเกิดขึ้นอีก
ดังนั้นผู้ประกอบการรถตู้โดยสาร จึงใคร่ขอให้ ฯพณฯสั่งการให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) คณะกรรมการจัดระเบียบรถตู้ กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ ดำเนินการหรือสั่งการให้ยังคงมีรถตู้หมวด 2 (ช.) ซึ่งเป็นรถตู้โดยสารสาธารณะที่ถูกจัดระเบียบในยุค คสช. ได้วิ่งบริการต่อไป โดยมีอายุสัญญาเท่ากันหรือเหมือนรถตู้หมวด 2 (จ.) และหมวด 2 (ต.)
ท้ายที่สุดนี้ ด้วยเหตุผลและความเดือดร้อนดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูฐไทย และผู้ประกอบการรถตู้โดยสารสาธารณะ จึงใคร่ขอกราบเรียนมายังฯพณฯนายกรัฐมนตรี / หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ขอได้โปรดสั่งการให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) คณะกรรมการจัดระเบียบรถตู้ กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ ได้นำปัญหาทั้ง 3 ข้อนี้ ไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อสั่งการให้มีการทบทวนนโยบายการจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะใหม่เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการด้วย