CIB ทลายเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ

224

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ทลายเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ รวบพนักงานและบัญชีม้า หยุดวงจรคอลเซ็นเตอร์

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ภายใต้การ อำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้สั่งการให้ พล.ต.ท.สันติ ชัยนิรามัย ผบช. ประจำ บช.ก., พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป., พ.ต.อ.สุเทพ โตอิ้ม รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.วิระชาญ ขุนไชยแก้ว รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.ปทักข์ ขวัญนา รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.เผด็จ งามละม่อม รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.พงศ์ปณต ชูแก้ว ผกก.6 บก.ป., พ.ต.ท.อนุสรณ์ ทองไสย รอง ผกก.6 บก.ป., พ.ต.ท.ศิลป์ชัย ถวัลย์ภิยโย รอง ผกก.6 บก.ป., พ.ต.ท.กันตเมศฐ์ อัครโชควรานนท์ รอง ผกก.6 บก.ป., พ.ต.ท.วริศร มัจฉา รอง ผกก.6 บก.ป. และ 
พ.ต.ต.จอมพฤทธิ์ แก้วเรือง สว.กก.6 บก.ป.

เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม กก.6 บก.ป. สนธิกำลัง กก.1 บก.ป., กก.2 บก.ป. และ กก.3 บก.ป.

ร่วมกันจับกุม ผู้ต้องหา จำนวน 12 คน คือ
1. น.ส.สุธาทิพย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 24 ปี
2. นายบริพัฒน์ (สงวนนามสกุล) อายุ 30 ปี
3. นายสุพจน์ (สงวนนามสกุล) อายุ 43 ปี
4. นายนวพล (สงวนนามสกุล) อายุ 19 ปี
5. นายวรโชติ (สงวนนามสกุล) อายุ 37 ปี
6. น.ส.นวลจันทร์ (สงวนนามสกุล) อายุ 43 ปี
7. นายสิทธิชัย (สงวนนามสกุล) อายุ 28 ปี
8. นายพีรพล (สงวนนามสกุล) อายุ 30 ปี
9. นายธมล (สงวนนามสกุล) อายุ 29 ปี
10. นางจุฑาทิพย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 36 ปี
11. น.ส.ณัฐกานต์ (สงวนนามสกุล) อายุ 45 ปี
12. น.ส.กชพร (สงวนนามสกุล) อายุ 40 ปี

โดยกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันฟอกเงิน และสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน, มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และอั้งยี่”

สถานที่ตรวจค้น/จับกุม จำนวน 9 จุด ประกอบด้วย ในพื้นที่ กทม. จำนวน 1 จุด, จ.ชลบุรี จำนวน 4 จุด, จ.ปราจีนบุรี จำนวน 2 จุด, จ.สระแก้ว จำนวน 1 จุด และ ใ จ.นครราชสีมา จำนวน 1 จุด

พฤติการณ์ สืบเนื่องจากเมื่อประมาณปลายปี พ.ศ.2566 คนร้ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ใช้หมายเลขโทรศัพท์ +689 19 1 โทรศัพท์หาผู้เสียหาย แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ อ้างว่าผู้เสียหายมีบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด หลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินเข้าบัญชีของคนร้ายเพื่อตรวจสอบ นอกจากนี้ยังมีการวิดีโอคอลมาหาผู้เสียหายแสดงให้เห็นว่าคนร้ายเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจริง จนภายหลังผู้เสียหายหลงเชื่อ โอนเงินไปจำนวน 19 ครั้ง เป็นยอดเงินรวม 927,982 บาท เมื่อผู้เสียหายทราบว่าถูกหลอกลวง ผู้เสียหายจึงได้แจ้งความร้องทุกข์ที่ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC) ของ บช.ก.
จากการสืบสวนทราบว่าคดีนี้มีการกระทำความผิดที่เกี่ยวเนื่องกันกับประเทศเพื่อนบ้าน อันเป็นการกระทำความผิดในลักษณะองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้เร่งรัดทำการสืบสวนหาตัวกลุ่มผู้กระทำความผิด จนกระทั่งสามารถรวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอาญาอนุมัติหมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้อง จำนวน 14 คน ในความผิดฐาน “ร่วมกันฟอกเงิน และสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน, มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และอั้งยี่”

จากนั้นจึงเปิดปฏิบัติการ “ทลายเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ รวบพนักงานและบัญชีม้า หยุดวงจรคอลเซ็นเตอร์” โดยในวันที่ 24 ก.ย. 2567 เจ้าพนักงานตำรวจ บก.ป. ได้ปิดล้อมตรวจค้นจับกุม จำนวน 9 จุด ทั่วประเทศ สามารถติดตามจับกุมผู้ต้องหาได้จำนวน 11 ราย และได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาเพิ่มอีก 1 ราย พร้อมกันนี้ยังได้ตรวจยึดพยานหลักฐาน เป็นโทรศัพท์มือถือและบัญชีธนาคาร เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

จากการสอบถามหนึ่งในผู้ต้องหาที่เป็นพนักงานคอลเซ็นเตอร์ให้การว่า ตนไม่ได้ถูกบังคับไปทำงานแต่อย่างใด โดยตนทำงานอยู่ที่ตึกแห่งหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีหลายชั้นหลายห้อง ทุกห้องเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทั้งหมด โดยแต่ละห้องจะมีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติทำงานอยู่ประมาณ 50 คน ซึ่งจะมีชายคล้ายชาวจีนเป็นผู้ควบคุมสั่งการ โดยกลลวงที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์แต่ละแก๊งใช้หลอกลวงก็จะแตกต่างกันไป เช่น ข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน, หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ, หลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์, หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัลหรือวัตถุประสงค์อื่นๆ, หลอกลวงแอปหาคู่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังจะมีการแบ่งหน้าที่ของพนักงานที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย เช่น ผู้ทำหน้าที่รับสมัครเหยื่อ, ผู้ทำหน้าที่เป็นหน้าม้าคอยปั่นกลุ่มในแอปพลิเคชันไลน์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ, ผู้ทำหน้าที่รับสายเหยื่อ, ผู้ทำหน้าที่หลอกลวงเหยื่อหรืออาจารย์ที่จะคอยแจกสคริปต์ให้ในทีม แล้วหลอกลวงเอาเงินจากเหยื่อ, ผู้ทำหน้าที่ยิงแอดโฆษณาตามแอปโซเชียล, ผู้ทำหน้าที่ดูแลเรื่องการเงิน เป็นต้น

โดยผู้ต้องหายังให้การเพิ่มเติมอีกว่า จะมีนายหน้าจัดหาบัญชีม้ามาให้นายทุน โดยจะมีการรับซื้อบัญชีในราคา 5,500 บาท ซึ่งนายหน้าจะหักเงินไว้ 2,000 บาท, แบ่งให้บัญชีม้าที่รับจ้างเปิดบัญชี 2,000 บาท และจะใช้เงินส่วนที่เหลืออีก 1,500 บาท ในการดำเนินการเปิดบัญชี (ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่านายหน้าในคดีดังกล่าวมีการขายบัญชีคนไทยไปกว่า 100 บัญชี)
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบบัญชีของคนร้ายที่รับเงินในคดีนี้ พบว่ามีความเกี่ยวพันกับคดีคอลเซ็นเตอร์อื่นๆ ที่ได้มีการแจ้งความไว้ในระบบรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กว่า 300 เคส รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 110 ล้านบาท โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ดำเนินการขยายผลและดำเนินในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยพี่น้องประชาชนทุกท่าน ในการไปทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์อยู่ที่ต่างประเทศนั้น ยังคงจะต้องได้รับโทษตามกฎหมายไทย ทั้งนี้ หากผู้ใดได้รับการชักชวนให้ไปทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ขอให้ไตร่ตรองให้ดีเสียก่อน เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และผลตอบแทนไม่คุ้มค่ากับโทษที่จะได้รับจากการถูกดำเนินคดี

ช่องทางการติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม พ.ต.ต.จอมพฤทธิ์ แก้วเรือง สว.กก.6 บก.ป. โทร.064 945 5656

#Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์#CIB#ข่าวอาชญากรรมวันนี้