กรมประมงเดินหน้าพัฒนา 3,156 องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น

389

เดินหน้าพัฒนาองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น

กรมประมงเดินหน้าพัฒนา 3,156 องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ตั้งเป้าเพิ่มอีก 200 ชุมชน เน้นส่งเสริม 4 ทักษะสำคัญ เพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ พัฒนาอาชีพประมง ถ่ายทอดเทคโนโลยี และเพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำ อัดฉีดองค์กรละ 1 แสนบาท

นางฐิติพร หลาวประเสริฐ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากการริเริ่มและผลักดันการจัดตั้ง “องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น” ตั้งแต่ปี 62 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการฟื้นฟูอาชีพและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เกิดการรวมกลุ่มทำให้เกิดอำนาจการต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง และได้รับการส่งเสริมด้านการตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้า จนสามารถเพิ่มรายได้ให้กับชาวประมงได้อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประมง ทั้งสิ้น 3,156 องค์กร โดยแบ่งออกเป็น (1) องค์กรชุมชนประมงชายฝั่ง 914 องค์กร (2) องค์กรชุมชนประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง 63 องค์กร (3) องค์กรชุมชนการทำประมงน้ำจืด 726 องค์กร (4) องค์กรชุมชนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 955 องค์กร (5) องค์กรชุมชนการแปรรูป จำนวน 498 องค์กร

ที่ผ่านมากรมประมงได้จัดทำโครงการเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนประมงท้องถิ่น ไปแล้วกว่า 1,056 องค์กร งบประมาณกว่า 108 ล้านบาท อาทิ การเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ ด้วยการพัฒนาแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำในชุมชน ธนาคารสัตว์น้ำชุมชน ฯลฯ หรือการพัฒนาอาชีพปรับปรุงการจับสัตว์น้ำ โดยการเปลี่ยนเครื่องมือทำการประมงที่ถูกกฎหมายและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของชุมชนและชนิดสัตว์น้ำ เพื่อประโยชน์ในการลดแรงงานและลดเวลาทำการประมง กิจกรรมการเพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำ ทั้งเรื่องการเก็บรักษาและการแปรรูปสัตว์น้ำเพื่อให้มีคุณภาพที่ดี การส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เช่น การเพาะเลี้ยงปลาในกระชัง เพื่อเป็นอาชีพเสริมแก่ชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งกรมประมงได้ทำหน้าที่เชื่อมโยงตลาดเพื่อนำผลผลิตที่ได้ไปจำหน่ายผ่านองค์กรต่าง ๆ ทั้งสมาคมโรงแรม สมาคมการท่องเที่ยว ภัตตาคารร้านอาหาร และผ่านระบบออนไลน์ ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มทักษะในการจับสัตว์น้ำในรูปแบบที่ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลให้โครงการดังกล่าวสามารถช่วยฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมให้กลับมาดีขึ้น พัฒนาอาชีพให้กับชุมชนประมงในท้องถิ่นตลอดห่วงโซ่การผลิตให้มีรายได้ที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ ช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจนสามารถก่อให้เกิดรายได้ชุมชนได้กว่า 12 %

นอกจากนี้ ยังมีโครงการเสวนาสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นระดับจังหวัดและระดับประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้องค์กรต่าง ๆ ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์และบทเรียนจากการดำเนินงานพัฒนาอาชีพและเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนประมงชายทะเลและแนวทางในการขับเคลื่อนเสริมสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นให้เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการทรัพยากรโดยจะเน้นการพัฒนาท้องถิ่นของตนให้เกิดความยั่งยืน

“ในการดำเนินการตลอดระยะเวลา 5 ปี กรมประมงสามารถส่งเสริมองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นให้สามารถพัฒนาจนประสบผลสำเร็จมากมาย และในปี 67 มีหลายชุมชน อาทิ กลุ่มประมงพื้นบ้านบ้านท่าแกรง จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นกลุ่มประมงชายฝั่งที่มีการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรประมง ได้จัดตั้งธนาคารปูม้าของชุมชนบ้านท่าแกรง โดยมีกระชังที่สร้างไว้ในบริเวณริมน้ำ หรือใส่ในถังพักในโรงอนุบาลปูม้าก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ส่งผลให้มีปริมาณลูกปูม้าเพิ่มมากขึ้น เป็นการสร้างความสมดุล สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชาวชุมชน หรือ กลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำบ้านท่าค้ำ จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นกลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำที่ผลิตภัณฑ์ได้รับเครื่องหมายการรับรองมาตรฐานระบบการผลิตอาหาร (อย.) อาทิ แหนมปลา ปลาส้ม กุนเชียงปลา หนังปลาทอดกรอบ ฯลฯ เป็นการสร้างรายได้ให้กับสมาชิกและคนในชุมชน”รองอธิบดีกรมประมง กล่าว

จากความสำเร็จรอบปีที่ผ่านมา องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มขึ้นสูงสุดมากถึง 247% ทำให้ขณะนี้ กรมประมงยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นต่อไป เป้าหมายในปี 67 – 68 ปีละ 200 องค์กรจากทั่วประเทศ โดยจะยังคงเน้นพัฒนาใน 4 ด้านหลัก คือ การเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ การพัฒนาอาชีพประมง การถ่ายทอดเทคโนโลยีและเพิ่มทักษะ การทำการประมง ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำ ด้วยการสนับสนุนงบประมาณให้องค์กรละ 1 แสนบาท เพื่อนำไปเสริมสร้างความมั่นคงในอาชีพของชาวประมง ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรประมงให้เกิดความยั่งยืน สนับสนุนการแปรรูปและการตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและความเข้มแข็งของชุมชนประมงทั่วประเทศได้ในระยะยาว.

#Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์#กรมประมง