ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 เผยสถานการณ์ “น้ำท่วม” ลดลงเหลือ 10 จังหวัด ไม่มีเหตุการณ์ใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมง และไม่มีสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบเพิ่มเติม ห่วงโรคติดต่อที่มากับน้ำท่วม กำชับเข้มควบคุมป้องกันโรค ย้ำ 14 จังหวัดเฝ้าระวังดินโคลนถล่ม และ 7 จังหวัดระวังน้ำล้นตลิ่ง
วันนี้ (21 กันยายน 2567) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 เป็นประธานการประชุมทางไกลเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 5/2567 ร่วมกับกองสาธารณสุขฉุกเฉิน กรมสุขภาพจิต กรมควบคุมโรค และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด พร้อมกล่าวว่า จากการรายงานข้อมูลระหว่างวันที่ 17 สิงหาคม -20 กันยายน 2567 สถานการณ์ลดลงเหลือ 10 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก พิจิตร พระนครศรีอยุธยา นครนายก หนองคาย บึงกาฬ นครพนม อุดรธานี สตูล และตรัง ไม่มีสถานการณ์ใหม่เพิ่มเติมในรอบ 24 ชั่วโมง ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตคงเดิม คือ 47 ราย และ 816 รายตามลำดับ ไม่มีสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบเพิ่มเช่นกัน รวมยังมีสถานบริการสาธารณสุขรับผลกระทบสะสม 67 แห่ง ใน 11 จังหวัด ซึ่งทั้งหมดเปิดบริการได้ตามปกติ
นพ.วีรวุฒิกล่าวต่อว่า ส่วนการดูแลผู้ประสบภัยและประชาชน ได้จัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข 2,359 ทีม ให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขสะสม 136,669 ราย ให้บริการสุขภาพจิตสะสม 26,318 ราย พบมีภาวะเครียดสูง 589 ราย ส่งพบแพทย์ 148 ราย และดูแลช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเพิ่ม 375 ราย สะสมรวม 20,569 ราย สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์รวม 170,441 ชุด สำหรับโรคติดต่อสำคัญที่เกี่ยวข้องกับฤดูฝน/น้ำท่วม เช่น ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ โรคฉี่หนู เป็นต้น พบว่ายังไม่มีการระบาดในพื้นที่ ทั้งนี้ได้กำชับให้จังหวัดที่มีสถานการณ์เข้มงวดเรื่องการควบคุมป้องกันโรคและสื่อสารความรู้สุขภาพแก่ประชาชน
สำหรับพื้นที่คาดการณ์ปริมาณน้ำฝนที่อาจก่อให้เกิดแผ่นดินถล่มล่วงหน้า ช่วงวันที่ 21-23 กันยายน 2567 มี 14 จังหวัด ได้แก่ ตาก เชียงใหม่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร อุทัยธานี เลย ชัยภูมิ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี จันทบุรี ตราด ระนอง และสุราษฎร์ธานี ขณะที่การคาดการณ์น้ำในลำน้ำ พบว่า ช่วงวันที่ 25-27 กันยายน 2567มีพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง 7 จังหวัด ได้แก่ แม่น้ำอิง จ.เชียงราย, แม่น้ำน่าน จ.น่าน, แม่น้ำวัง จ.ลำปาง จ.ตาก, แม่น้ำยม จ.แพร่ จ.สุโขทัย และแม่น้ำสงคราม จ.อุดรธานี จ.สกลนคร ขอให้ติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง ประเมินความเสี่ยงต่อสถานบริการสาธารณสุข เตรียมแผนอพยพเคลื่อนย้ายกลุ่มเปราะบางไปพื้นที่ปลอดภัย สำรวจและติดตามปริมาณยาและเวชภัณฑ์ โดยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลทั่วประเทศรายงานทรัพยากรคงคลังและอัตราการใช้ทรัพยากรเป็นประจำทุกวันศุกร์ ภายในเวลา 16.00 น.