วันที่ 19 กันยายน 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เแถลงถึงความสำเร็จการพัฒนาด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ว่า ผลการจัดอันดับ Global Cybersecurity Index 2024 (GCI) โดย International Telecommunication Union (ITU) ในปี 2024 ประเทศไทยได้คะแนน 99.22 คะแนน ก้าวกระโดดจากลำดับที่ 44 ในปีก่อนขึ้นสู่อันดับที่ 7 จากผลการประเมินของ 194 ประเทศทั่วโลก ทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่ประเทศชั้นนำใน Tier 1 ซึ่งหมายถึงการเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นตัวแบบด้านไซเบอร์ของโลก

จากนโยบายการดำเนินงานของกระทรวง ภายใต้แผนงาน ‘The Growth Engine of Thailand’ หรือเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศจะให้ความสำคัญใน 3 ด้าน ได้แก่ การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ (Thailand Competitiveness) การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Safety & Security) และการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศ (Human Capital) รวมถึง ความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะพัฒนารัฐบาลให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล และนโยบายที่จะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่น ควบคู่กับการเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ดังกล่าว

“ผลคะแนนในดัชนีนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการพัฒนาและเสริมสร้างมาตรการความปลอดภัยไซเบอร์ในหลาย ๆ ด้าน โดยผลคะแนนที่เกิดขึ้นนั้น เป็นความร่วมมือร่วมใจของหน่วยงานต่าง ๆ ทุกภาคส่วน ร่วมผลักดันงานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ทั้งในระดับบุคคล องค์กร ภาคส่วน และในระดับประเทศ ตลอดจนพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม รายงานอาจแสดงถึงจุดที่ประเทศไทยยังต้องพัฒนาเพิ่มเติม เช่น การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Child Online Protection หรือการเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคนิคในการรับมือภัยคุกคามที่ทันสมัยขึ้นต่อไป” นายประเสริฐ กล่าว

ขณะที่ พลอากาศตรีอมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กล่าวเสริมว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการยกระดับด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มาอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย 1.การยกระดับด้านกฎหมาย เช่น พรบ.คอมพิวเตอร์  พรบ.ข้อมูลส่วนบุคคล พรบ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 2.การยกระดับด้านเทคนิค มีการจัดตั้ง สกมช. หรือ ThaiCERT จัดการฝึกเพื่อทดสอบขีดความสามารถทางไซเบอร์ในระดับประเทศ 3.การยกระดับด้านหน่วยงาน/นโยบาย มีการจัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (พ.ศ. 2565 – 2570) การจัดตั้งประชาคมไซเบอร์แห่งชาติ เป็นต้น

4 การยกระดับด้านการพัฒนาศักยภาพ โดยสกมช. จัดโครงการพัฒนาบุคลากร จัดการแข่งขัน และตั้งสถาบันวิชาการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ 5. การยกระดับด้านความร่วมมือ โดยทำ MOU กับหน่วยงานทั้งภายในและต่างประเทศ ร่วมแล้วมากกว่า 34 ฉบับ นอกจากนี้ การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน ส่งผลให้ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับนานาชาติอย่างสม่ำเสมอ เช่น ASEAN Cyber Coordinating Committee (ASEAN Cyber – CC) และ ASEAN-EU Statement on Cybersecurity Cooperation เป็นต้น

#Thaitabloid #ไทยแทบลอยด์ #ประเสริฐจันทรรวงทอง #กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม #GlobalCybersecurityIndex2024 #ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ #สกมช.