ผวามาตรฐานองค์กรอิสระ รัฐบาลขอแถลงนโยบาย-ก่อนลุยท่วม กองแช่งสบโอกาสยึดโซเชียลถล่มยับ

696

        อุทกภัยครั้งใหญ่ที่ชาวภาคเหนือตอนบนหลายจังหวัดโดยเฉพาะเชียงรายและเชียงใหม่ต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติอย่างแสนสาหัส ที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจจากรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ไปสู่รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร


        ส่งผลให้เกิดช่องว่างในการบริหารจัดการจากรัฐบาล กลายเป็นจุดอ่อนให้บรรดากองแช่งที่ยืนหยัดอยู่ฝั่งตรงข้ามรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ที่มีเงาของนายทักษิณ ชินวัตร บิดาทาบทับอยู่ ใช้สื่อโซเชียลในมือผลิตแพลตฟอร์มต่างๆแชร์สู่โลกออน์ไลน์ถล่มอย่างหนัก


        หลายแพลตฟอร์มผลิตออกมาแบบใช้อคติล้วนๆ มุ่งโจมตีแบบไร้เหตุผล บางแพลตฟอร์มนำภาพการทำงานของ น.ส.แพทองธาร ขณะลงพื้นที่ประสบภัยไปเปรียบเทียบกับเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงแบบไม่บังควร เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าราชวงศ์ประชาชนชาวไทยและรัฐบาลต่างเทิดไว้เหนือเกล้า ซึ่งการกระทำของผู้ผลิตแพลตฟอร์มลักษณะนี้ มุ่งหวังจะดิสเครดิตรัฐบาลที่ไม่ใช่พวก โดยไม่เฉลียวใจหรือคิดให้รอบคอบเลยว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นและกระทบถึงใครบ้าง แต่ทำเพื่อสนองตอบความสะใจของตัวเองที่แฝงด้วยอคติและแรงริษยา

        ครั้นส่องไปถึงสาเหตุที่รัฐบาล น.ส.แพทองธารถูกวิจารณ์ในเชิงลบว่าไม่รีบช่วยชาวบ้านที่ประสบอุทกภัย น่าจะมาจากพิษของรัฐธรรมนูญปี 2560 และมาตรฐานการชี้ขาดของบรรดาองค์กรอิสระที่ถูกมองว่าถ้าพวกจะฉลุย ไม่ใช่พวกจะติดกับดักแบบดิ้นไม่หลุด ในประเด็นพิษของรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดเงื่อนไขบังคับก่อนที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินไว้ 2 ประการคือ ประการแรก ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เสียก่อน จึงจะเข้าทำหน้าที่ได้ตามมาตรา 161  ประการที่สอง ต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายใน 15 วัน หลังจากรับหน้าที่ ตามมาตรา 162 แต่หากถวายสัตย์ฯแล้ว ครม.เข้ารับหน้าที่แล้ว แต่ยังไม่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ครม.สามารถปฏิบัติหน้าที่เท่าที่จำเป็นได้ หากมีกรณีสำคัญและเร่งด่วน หากปล่อยเนิ่นช้าจะกระทบต่อประโยชน์ที่สำคัญของแผ่นดิน

       ซึ่งประเด็นนี้บรรดากองแช่ง นักวิชาการและนักการเมืองฝ่ายค้านบางคนนำไปเปรียบเทียบกับกรณีเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เชียงรายว่าแม้ ครม.ยังไม่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา แต่เมื่อเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนปล่อยช้าไม่ได้ ครม.ย่อมใช้อำนาจจัดการได้แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องรอวันแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

      ขณะที่ น.ส.แพทองธารและแกนนำพรรคเพื่อไทย ต่างยืนยันว่าจะขอแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อน แต่ได้สั่งการกับผู้เกี่ยวข้องในเบื้องต้นไว้บ้างแล้ว  สาเหตุที่แสดงจุดยืนดังกล่าวซึ่งหมิ่นเหม่ต่อความรู้สึกของประชาชนและผู้ประสบภัย แต่รัฐบาลพร้อมที่จะแลกน่าจะมาจากมาตรฐานการตัดสินขององค์กรอิสระที่พรรคเพื่อไทยโดนกระทำมาโดยตลอด ถ้าย้อนไปในอดีตหลังรัฐบาลนายทักษิณ ถูกเผด็จการทหารยึดอำนาจ พรรคไทยรักไทยถูกยุบ เมื่อกลายร่างมาเป็นพรรคพลังประชาชน มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ศาลรัฐธรรมนูญสอยนายสมัคร ตกเก้าอี้เพราะรับค่าจ้างไม่กี่พันบาทในการจัดรายการทีวีชิมไปบ่นไป

      การตัดสินครั้งนั้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถึงขั้นเปิดพจนานุกรมอธิบายความหมายแต่ละคำเกี่ยวกับการรับค่าจ้าง แบบที่ชาวบ้านรู้สึกคาใจ เพราะคำว่ารับค่าจ้างมีการนำไปเปรียบเทียบกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคน ถูกเชิญไปบรรยายและได้รับค่าจ้างหลักหมื่นกลับไม่มีความผิดเพราะมีการอธิบายความว่าเป็นการให้ความรู้ทางวิชาการ ต่อมาพรรคพลังประชาชนถูกยุบแล้วกลายร่างมาเป็นพรรคเพื่อไทย ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีการเสนอโครงการถไฟความเร็วสูงงบประมาณ 2 ล้านล้านบาท ถูกฝ่ายตรงข้ามยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดกฎหมายหรือไม่ สุดท้ายชี้ขาดว่าขัดกฎหมายและมาพร้อมกับวลีจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนว่า”ให้ไปสร้างถนนลูกรังให้หมดก่อน”แต่ต่อมารถไฟความเร็วสูงถูกรัฐบาลเผด็จการทหารนำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผลักดันให้สร้างด้วยงบประมาณที่สูงกว่าหลายเท่าแถมถนนลูกรังยังอยู่เกือบทุกหัวระแหง

        ขณะที่องค์กรอิสระอื่นๆไม่ว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)และ องค์กรตรวจสอบอื่นๆ แทบจะเดินไปในแนวทางเดียวกันเมื่อเจอบรรดานักร้องที่ยื่นเรื่องร้องเกี่ยวพันกับพรรคเพื่อไทยให้ตรวจสอบ
        แม้แต่ครั้งล่าสุดที่อดีต 40 สว.ตั้งโดยเผด็จทหารยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบนายเศรษฐา ฐานผิดจริยธรรมอย่างร้ายในการตั้งบุคคลที่มีประวัติต้องคดีเป็นรัฐมนตรี ก่อนที่ผลชี้ขาดจะออกมาต่างคาดหมายว่านายเศรษฐา ต้องผ่านฉลุยแต่สุดท้ายต้องกระเด็นตกเก้าอี้ แบบเหนือความคาดหมาย

        ขณะเดียวกันบรรดาคอการเมืองต่างให้ความเห็นว่า น.ส.แพทองธาร ควรจะลุยไปก่อนเลย คงไม่มีนักร้องคนไหนกล้าร้อง หากร้องจริงเชื่อว่ามวลชนออกมากดดันทั้งนักร้องและองค์กรอิสระอย่าแน่นอน ถ้าอยู่ในจังหวะเวลาที่ชาวบ้านต้องการความช่วยเหลือคงจะกดดันได้ แต่หากเวลาผ่านไปคงไม่มีมวลชนไปกดดันพบนักร้องอย่างแน่นอน และบางคนอาจจะแอบไปร้องไว้แล้วก็เป็นได้ แถมองค์กรอิสระบางองค์กรพร้อมที่จะรอรับเรื่องอยู่แล้ว แม้รัฐบาลแพทองธารจะมีแบ๊กดี แต่บุคคลากรในองค์กรอิสระบางกลุ่มเพียงแค่ลมพัดผ่านพร้อมที่ชักดาบขึ้นฟาดฟันอยู่แล้ว


   เมื่อมองบริบทโดยรวมแล้วมาตรฐานการทำงานองค์กรอิสระน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญให้รัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร  เลือกที่จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อนแล้วถึงลงลุยพื้นที่ช่วยผู้ประสบภัย !!!