อว.ตั้งศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์น้ำท่วม

95

อว.ตั้งศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์น้ำท่วม
“ศุภมาส” ตั้งศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์น้ำท่วมอว. เปิดวอร์รูมติดตามสถานการณ์ช่วยประชาชนที่รับผลกระทบจากอุทกภัย ระดมกองทัพโดรนสำรวจและลำเลียงสิ่งของไปมอบให้กับผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก พร้อมเรือไวไฟ (WiFi) ให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต บ้านสำเร็จรูป ที่นอนยางพาราถุงยังชีพที่มีอาหารนวัตกรรมพร้อมทานโดยไม่ต้องอุ่น พร้อมแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำผ่านทุกช่องทาง

เมื่อวันที่ 26 ส.ค. น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวหลังแถลงการจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์น้ำท่วม อว.” โดยมี นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัด อว. น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. พร้อมผู้บริหารกระทรวง อว. เข้าร่วม ที่ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวง อว. ถ.พระรามที่ 6 กรุงเทพฯว่า ได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์น้ำท่วม อว. ขึ้น โดยใช้ห้อง 7B ชั้น 7 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวง อว. เป็นวอร์รูมวางแผนประสานงานกับภาคส่วนต่างๆ พร้อมสั่งการไปยังหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. ให้นำองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมและสิ่งของที่จำเป็นไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการฟื้นฟูหลังน้ำลด เพื่อช่วยสนับสนุนภารกิจของรัฐบาลในการรองรับเหตุ แก้ไขปัญหา บรรเทาผลกระทบและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนโดยเร็วที่สุด โดยเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการประจำจังหวัดเพื่อเป็นศูนย์กลางช่วยเหลือประชาชน เป็นที่พักพิงชั่วคราว และเป็นศูนย์กระจายสิ่งของที่จำเป็น รวมถึงเป็นหน่วยประสานงานในพื้นที่ อาทิ จ.เชียงราย ให้ มรภ.เชียงรายเป็นศูนย์กลางฯ จ.แพร่ ให้ ม.แม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ให้ มทร.ล้านนา น่าน จ.พะเยา ให้ ม.พะเยา จ.สุโขทัย ให้ มรภ.พิบูลสงคราม จ.ระนอง ให้ วิทยาลัยชุมชนระนอง จ.ภูเก็ต ให้ มรภ.ภูเก็ต จ.ยะลา ให้ มรภ.ยะลา จ.นครศรีธรรมราช ให้ ม.วลัยลักษณ์ และ จ.สงขลา ให้ ม.สงขลานครินทร์ เป็นศูนย์กลางฯ

รมว.อว. กล่าวว่า ขณะเดียวกันยังได้มอบหมายให้หน่วยงานใน อว.สนับสนุนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รองรับสถานการณ์ใน 3 ระยะ ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ คือ“การเฝ้าระวังน้ำท่วม” ซึ่ง อว.มีระบบการติดตามสถานการณ์น้ำ เฝ้าระวัง แจ้งเตือน และวางแผนอพยพได้อย่างทันท่วงที จากคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศน้ำ หรือ สสน. ที่เป็นหน่วยรวบรวม เชื่อมโยง บูรณาการและวิเคราะห์ข้อมูลน้ำและภูมิอากาศที่มีผลกระทบต่อน้ำ 435 รายการ และมีรถโมบายเคลื่อนที่เพื่อติดตามสถานกาณ์น้ำในพื้นที่ โดยศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์น้ำท่วม อว. จะนำเสนอข้อมูลใน 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย ข้อมูลติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำปัจจุบันแบบเรียลไทม์ เช่น เส้นทางพายุ ภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลฝนตกในพื้นที่ เป็นต้น ข้อมูลคาดการณ์สถานการณ์น้ำ แบบจำลองชี้เป้าพื้นที่เสี่ยง ข้อมูลจากเทคโนโลยีสำรวจสำหรับวิเคราะห์ เพื่อวางแผน ตัดสินใจแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ระบบเว็บไซด์และโมบายแอพพลิเคชั่นสำหรับติดตามสถานการณ์น้ำ เช่น เว็บไซด์คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ เป็นข้อมูลภาพรวมประเทศ เว็บไซด์ศูนย์ข้อมูลน้ำจังหวัด เป็นข้อมูลแยกรายจังหวัด และแอพพลิเคชั่น ThaiWater สำหรับประชาชนทั่วไป ใช้งานได้ง่าย นอกจากนี้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า จะสนับสนุนข้อมูลมายังศูนย์ปฏิบัติฯแห่งนี้ใน 2 ชุดข้อมูลที่สำคัญ ประกอบด้วย การติดตามสถานการณ์ด้วยดาวเทียม พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นประจำทุกวัน สถานการณ์ความเสี่ยงน้ำท่วม จากสถิติพื้นที่น้ำท่วมย้อนหลัง 10 ปี ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะมีการแจ้งผ่านเพจของกระทรวง อว. ทุกวัน ในเวลา 13.00 น.

ส่วนกลางน้ำคือ “การให้ความช่วยเหลือระหว่างเกิดภัยน้ำท่วม” ซึ่งนอกจากจะเปิดพื้นที่ของมหาวิทยาลัยให้เป็นศูนย์บรรเทาและพักพิงให้ผู้ได้รับผลกระทบแล้ว ยังระดมกองทัพโดรนกว่า 30 ลำ ทั้งในส่วนของ อว. และเอกชนที่ได้รับการสนับสนุนจากอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคมาปฏิบัติภารกิจในการสำรวจและลำเลียงสิ่งของไปมอบให้กับผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก นอกจากนี้ ยังมีเรือไวไฟ (WiFi) ที่จะเข้าไปให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ รวมถึงยังมีบ้านสำเร็จรูป ที่นอนยางพารา เครื่องกรองน้ำไส้กรองนาโนแบบเคลื่อนที่ และถุงยังชีพที่มีอาหารนวัตกรรมพร้อมทานโดยไม่ต้องอุ่น ยาและของใช้ที่จำเป็นไปมอบให้ผู้ประสบภัยอีกด้วย ซึ่งเครื่องมือ อุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์เหล่านี้ หน่วยงานในพื้นที่หรือภาคประชาชนสามารถประสานขอมายังศูนย์ปฏิบัติการทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ได้ และในวันนี้จะมีการจัดส่งโดรนขนาดใหญ่เพื่อใช้ในการขนส่งของไปยังพื้นที่จังหวัดสุโขทัย 3 ลำ และปลายน้ำ คือ “ฟื้นฟูหลังน้ำลด” จัดตั้งหน่วยบริการเคลื่อนที่ซ่อมและบริการเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องมือเกษตร โดยนำนักศึกษาจิตอาสาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือประชาชน เช่น การให้บริการซ่อมแซมบ้านเรือน พาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์การเกษตร หลังสถานการณ์คลี่คลาย รวมถึงนำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของกระทรวง อว. ลงไปรักษา บำบัด ฟื้นฟู ทั้งร่างกายและจิตใจ

น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า อว.ยังมีแพลตฟอร์มการบริหารจัดการข้อมูล ทั้งการแจ้งเหตุสถานการณ์ในพื้นที่ การขอความช่วยเหลือและการรับบริจาค พร้อมจะดูแลนักศึกษาและบุคลากรของ อว. ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจจำนวนและจะได้ให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ ต่อไป ที่สำคัญได้สั่งการให้ น.ส.สุชาดา และ ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว. ลงพื้นที่ในวันที่ 27 ส.ค. ไปทำงานกับ อว.ส่วนหน้า จ.สุโขทัย ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่กำลังจะได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในลำดับต่อไป และในฐานะ รมว.อว. และบุคลากรของ อว. มีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยครั้งนี้ ขอยืนยันว่าการช่วยเหลือจะไปถึงมือประชาชนอย่างแน่นอน โดยการระดมทั้งกำลังคน เทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อส่งให้ถึงมือประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ เพราะกระทรวง อว. รับรู้ถึงทุกข์สุขของประชาชน เป็น “อว.เพื่อประชาชน“ และนี่คือศูนย์ปฏิบัติการฯ ที่จะกระจายความช่วยเหลือไปถึงประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด.

#Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์