“พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ” รอง ผบ.ตร. สั่ง รอง ผบช.น. ตรวจสอบร้านเหล้ายาดองในพื้นที่คลองสามวา-มีนบุรี หลังพบผู้ป่วยได้รับพิษจากสุรา ขณะตัวเลขผู้ป่วยรวม 25 คน เสียชีวิต 2 คน
เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีพบผู้ป่วยอาการ Methanol Intoxication (รับพิษจากสุรา) โดยเมื่อทำการสอบสอบสวนพบว่าผู้ป่วยทั้งหมดดื่มสุราจากร้านเหล้ายาดองริมถนน ว่า ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา รองผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ที่รับผิดชอบงานส่วนป้องกันปราบปราม ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. ดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและ ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เนื่องจาก 2 วันที่ผ่านมา มีรายงานว่ามีผู้ป่วยอาการหนักจากการกินยาดองประมาณ 12 ราย เบื้องต้นทราบว่าเกิดจากเหล้าที่มีสารพิษในพื้นที่ถนนหทัยราษฎร์, ถนนสามวา, ถนนเจริญพัฒนา และบริเวณใกล้เคียงโดยรอบพื้นที่เขตมีนบุรี และเขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร
“ได้กำชับให้พื้นที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล 3 และ 4 ดูแลความปลอดภัยประชาชนในพื้นที่ ซึ่งตั้งแต่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้ลงพื้นที่ร่วมกันตรวจสอบสถานที่ต้องสงสัยว่าผลิตเหล้ายาดองที่อาจจะเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์นี้แล้ว”
รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผย ตัวเลขผู้ป่วยซุ้มยาดองเถื่อน รวม 25 คน เสียชีวิต 2 คน เตือนนักดื่มในเขตมีนบุรี หนองจอก และ คลองสามวา สังเกตอาการ วิงเวียนศีรษะ อาเจียนตาพร่ามัวให้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลใกล้เคียง
จากสถานการณ์ที่มีผู้ป่วยหลายรายเข้าโรงพยาบาลพร้อมกัน เนื่องจากดื่มสุราเถื่อน โดยพบผู้ป่วยที่ดื่มเหล้ายาดองแล้วถูกหามส่งโรงพยาบาลเกือบ 20 ราย และเสียชีวิต 1 ราย โดยมีผู้ป่วยพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลนพรัตน์ราธานี 13 ราย โรงพยาบาลราชวิถี 1 ราย โรงพยาบาลนวมินทร์ 9 จำนวน 5 ราย โรงพยาบาลเกษมราษฎร์รามคำแหง 1 ราย และโรงพยาบาลสินแพทย์เสรีรักษ์ 1 ราย ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 ส.ค.67
ล่าสุดนายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ ประชุมติดตามความคืบหน้าสถานการณ์ผู้ป่วยสงสัยจากภาวะพิษสุราเถื่อน โดยได้มาประชุมติดตามความคืบหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ประชุมร่วมกับนายแพทย์เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ตำรวจสน.บางชัน ตำรวจบก.น.3 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ห้องเพชรพิมาน ใช้เวลาในการประชุม 1 ชั่วโมง
ภายหลังการประชุมนายแพทย์ไพโรจน์ กล่าวว่า จากการรายงานของศูนย์ปฏิบัติการดังกล่าว พบผู้ป่วยเริ่มเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2567 จนถึงขณะนี้ (วันที่ 26 สิงหาคม2567) รวม 27 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งมีผู้ป่วยพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล 25 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยรุนแรงที่รักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู และใส่ท่อช่วยหายใจ 13 คน ซึ่ง แพทย์ต้องเฝ้าระวังเพราะในอนาคตอาจมีภาวะเสี่ยงอาจเป็นผู้พิการทางสายตา โดยแบ่งพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลนพรัตน์ราธานี 16 ราย โรงพยาบาลราชวิถี 1 ราย โรงพยาบาลนวมินทร์9 จำนวน 7 ราย โรงพยาบาลนวมินทร์ 1 ราย โรงพยาบาลเกษมราษฎร์รามคำแหง 1 ราย และโรงพยาบาลสินแพทย์เสรีรักษ์ 1 ราย
สำหรับผู้ป่วยทั้งหมดที่เข้ารับการรักษาพบว่าเป็นคนไทย ที่อาศัยอยู่ในเขตมีนบุรี, หนองจอกและคลองสามวา ซึ่งทุกคนมีประวัติเคยดื่มสุราเถื่อนในพื้นที่ดังกล่าว ส่วนประชาชนที่เคยดื่มสุราเถื่อน หรือเคยดื่มในพื้นที่ดังกล่าว หากมีอาการ วิงเวียนศรีษะ คลื่นไส้อาเจียนและสายตาพร่ามัว สามารถเข้ารับการตรวจได้ที่โรงพยาบาลใกล้เคียง ผู้ป่วยที่กินไปบางคนจะออกฤทธิ์ช้าโดยจะออกฤทธิ์ในเวลา 24-48 ชั่วโมง
โดยปกติจากการกลั่นสุราจะพบเมทานอลขึ้นบ้างเล็กน้อยไม่เกิน 1,000 ppm (parts per million) แต่จากการตรวจสอบแหล่งผลิตโรงงานในซอยกาญจนา 25 พบว่ามีเมทานอลสูงถึง 1 แสน ppm ที่ผ่านมาโดยเฉลี่ยปีหนึ่งจะมีผู้ป่วย 50-100 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสุราธรรมชาติชาวบ้านต้มกลั่นกันเอง ส่วนผลของส่วนประกอบอย่างละเอียดของสุราเถื่อนอยู่ระหว่างการตรวจสอบของศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งผลน่าจะออกมาใน 1-2 วันนี้