“ช่วงเดือนพฤษภาคม นายกสมาคมตำรวจ ประธานชมรมพนักงานสอบสวน นายกสมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ที่ปรึกษาชมรมพนักงานสอบสวน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ(ภาคประชาชน)นโยบายตำรวจแห่งชาติ แกนนำกลุ่มไอลอว์และนักวิชาการด้านอาชญาวิทยา แถลงจุดยืนเดินหน้าปฏิรูปตำรวจ ด้วยการล่ารายชื่อ 10,000 คน ยื่นต่อเพื่อขอแก้ไขกฎหมายตำรวจ ฉบับ 2565 ในบางมาตรา ซึ่งมีการยกร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ(ฉบับ..) พ.ศ.เรียบร้อยแล้ว มีหลักการพอสรุปได้ดังนี้”
รัฐพึงจัดระบบการบริหารในกระบวนการยุติธรรมทุกด้านให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ และให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม รวดเร็วและไม่เสียค่าใช้จ่ายเกินสมควร รัฐพึงมีมาตรการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรม ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยเคร่งครัด ปราศจากการแทรกแซงหรือครอบงำใดๆ และรัฐพึงดำเนินการให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลเป็นไปตามระบบคุณธรรม
โดยกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีมาตรการป้องกันมิให้ผู้ใดใช้อำนาจหรือกระทำการโดยมิชอบที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่หรือกระบวนการแต่งตั้งหรือการพิจารณาความดีความชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแก้ไขปรับปรุงเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ และภารกิจตำรวจให้เหมาะสม และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ มีหลักประกันว่าข้าราชการตำรวจจะได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งและโยกย้าย การพิจารณาบำเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจน การพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย ต้องคำนึงถึงหลักอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน เพื่อให้ตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพและภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่
นี่คือเหตุผลและความจำเป็น ที่ยกมาอธิบายเพื่อนำไปสู่การขอแก้ไขกฎหมายตำรวจฯ แต่ละวรรคแต่ละประโยค หากตำรวจทั่วประเทศได้อ่านคงบอกได้ว่าเป็นเพียงแค่ฝัน เพราะเมื่อปฏิบัติจริงล้วนแต่เป็นไปในทางตรงข้ามแทบทั้งสิ้น แม้จะถูกมองว่าเป็นเพียงแค่ฝัน ขอชื่นชมคณะทำงานมีความพยายามจะขับเคลื่อนเพื่อกอบกู้ขวัญและกำลังใจของตำรวจที่ทรุดหนัก มาเกือบ 10 ปี
สาระสำคัญที่ขอยื่นแก้ไข ประเด็นแรก ยกเลิกความในมาตรา 22 พ.ร.บ.ตำรวจ 2565 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน” มาตรา 22 ให้มีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจคณะหนึ่ง เรียกชื่อย่อว่า”ก.ตร.” ประกอบด้วย
(1) อดีตข้าราชการตำรวจที่มีตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.) ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากข้าราชการชั้นสัญญาบัตรระดับรองผู้กำกับการขึ้นไป ประธานก.ตร. (2)ผบ.ตร.เป็นรองประธานก.ตร. จเรตำรวจแห่งชาติและรองผบ.ตร. ทีมีอาวุโสสองอันดับแรก รวมกันไม่เกิน 3 คนเป็นก.ตร (3)เลขาธิการก.พ.และเลขาธิการ ก.พ.ร. เป็น ก.ตร.(4) ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้รับเลือกตามมาตรา 26 ดังต่อไปนี้
ก.ผู้ซึ่งเคยรับราชการเป็นตำรวจในตำแหน่งผู้บังคับการหรือเทียบเท่าขึ้นไปจำนวน 6 คน แต่ต้องพ้นตำแหน่งไปแล้วเกินสามปี
ข.ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เป็นข้าราชการตำรวจ โดยก.ตร.ตาม(1)(2)และ(3)หารือร่วมกันเสนอชื่อบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 24 จำนวน 6 คน แล้วให้ก.ตร.ตาม(2)(3)(4) เป็นผู้คัดเลือกให้เหลือ 2 คน ให้ผบช.สนง.ก.ตร. เป็นเลขานุการและรองผบช.สนง.ก.ตร. เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ก.ตร.ตาม(1)(2)และ(3) ต้องมาประชุมด้วยตัวเอง จะมอบหมายให้คุคลอื่นใดมาประชุมแทนมิได้ การแก้ไขมาตรานี้มีการคาดหวังไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซงและครอบงำ เพราะเดิมนายกรัฐมนตรีเป็นประธานก.ตร.โดยตำแหน่ง จะคล้ายกับโครงสร้างของคณะกรรมการอัยการ(ก.อ.)ที่ประธานก.อ.มาจากการเลือกตั้ง
ซึ่ง พล.ต.อ.ปัญญา มาเม่น อดีตจเรตำรวจแห่งชาติ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า”ให้ประธานจากตำรวจเลือกกันเองเหมือนก.อ. ไม่แน่ใจว่าจะเกิดผลดีกว่าหรือแย่กว่าเก่าเป็นการหนีเสือปะจระเข้หรือไม่ … “
ถ้ามองถึงหน้างานและปริมาณบุคลากรเทียบกับอัยการแล้วต่างกันราวฟ้ากับเหว เพราะหน้างานตำรวจรับผิดชีวิตชาวบ้านตั้งแต่เกิดจนตาย รักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หากตำรวจทำงานล้มเหลวย่อมส่งผลกระทบถึงรัฐบาล แต่อัยการรับผิดชอบเฉพาะคดีความที่รัฐและประชาชนเป็นผู้เสียหายเท่านั้นแถมสำนวนคดีตำรวจจัดทำเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ปริมาณบุคลากรตำรวจมีเกือบสามแสนนาย อัยการมีแค่หลักพันการบริหารจัดการจะทำได้ง่ายกว่าตำรวจ
หากปล่อยให้ประธานก.ตร.มาจากตำรวจเลือก ใช่ว่าจะทำให้ตำรวจปลอดการเมืองได้ เพราะลำพังประธานก.ตร.คนเดียวไม่มีกำลังพอที่จะต้านกำลังภายในของฝ่ายการเมืองได้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้การขับเคลื่อนแก้ไขกฎหมายตำรวจครั้งนี้ต้องสูญเปล่าควรถอนการแก้มาตรา 22 ออกไปเพื่อให้การขอแก้ไขในประเด็นอื่นได้รับการตอบสนอง หากไม่ถอนเชื่อว่าเมื่อถึงมือ สส.คงแท้งตั้งแต่วาระแรก เพราะนักการเมืองส่วนใหญ่ไม่ยอมปล่อยให้อำนาจหลุดมืออย่างแน่นอน แม้แต่พรรคก้าวไกลได้ชื่อว่าเป็นพรรคคนรุ่นใหม่ ประกาศเล่นการเมืองตรงไปตรงมา ยังยอมให้ถูกขับออกจากพรรคเพียงเพื่อขอนั่งตำแหน่งรองประธานสภาฯต่อ !!!
(ติดตามตอน 2)
รายงานโดย…
ทีมข่าวกระบวนการยุติธรรม
สำนักข่าวไทยแทบลอยด์