แปลงใหญ่ทุเรียนวังหว้า ส่งเสริมและพัฒนาทุเรียน GI เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร

2928

แปลงใหญ่ทุเรียนวังหว้า ส่งเสริมและพัฒนาทุเรียน GI เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร

นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยถึงผลการติดตามโครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ภายใต้แผนแม่บทด้านการเกษตร แผนแม่บทย่อยเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เพื่อพัฒนาและต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น รวมถึงเพื่อพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ในพื้นที่ให้สามารถยื่นคำขอขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ส่งเสริมและพัฒนาสินค้าด้วยการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นการสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรและชุมชน รวมทั้งส่งเสริมการบริโภคสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นทั้งในระดับประเทศและเพื่อการส่งออก โดยในปี 67 มีหน่วยงานร่วมดำเนินการ 7 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมประมง กรมปศุสัตว์ และกรมหม่อนไหม โดยกำหนดเป้าหมายให้เกษตรกร 5,854 ราย พื้นที่ 77 จังหวัด อัตราขยายตัวของมูลค่าสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากการติดตามผลการดำเนินงานโครงการฯ ปี 67 รอบ 6 เดือน (ต.ค.66 – มี.ค.67) ภาพรวมทั้งโครงการพบมีการถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกร 3,438 ราย (ร้อยละ 58.73 ) ส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นในสถาบันเกษตรกร 52 แห่ง และตรวจสอบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย (ตรานกยูงพระราชทาน) 121,989 เมตร คิดเป็นมูลค่า 265 ล้านบาท

นอกจากนี้ สศก. ได้ติดตามตัวอย่างกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการฯ ณ แปลงใหญ่ทุเรียนวังหว้า 1 ต.วังหว้า อ.แกลง จ.ระยอง พบสมาชิกกลุ่มฯ 40 ราย ปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองระยอง พื้นที่ปลูกรวม 637 ไร่ ผลผลิตรวม 1,117,222 กิโลกรัมต่อปี มีนายธีระ กิจมานอานนท์ เป็นประธานกลุ่ม ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการฯ และได้รับการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการจัดการทุเรียนเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และการสนับสนุนกล่องบรรจุภัณฑ์ทุเรียน 400 กล่อง ครบตามเป้าหมาย โดยสมาชิกกลุ่มฯเป็นผู้กำหนดหลักสูตรการอบรมและปัจจัยการผลิตที่ต้องการรับการสนับสนุนจากโครงการฯ รวมทั้งสำนักงานเกษตรจังหวัด ได้คัดเลือกพื้นที่ ที่จะจัดทำแปลงเรียนรู้การผลิตไม้ผลอัตลักษณ์ที่ได้มาตรฐาน (Precision Farm) โดยเป็นแปลงของสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการที่มีความพร้อมในการพัฒนาให้เป็นแปลงเกษตรอัจฉริยะ เพื่อใช้เป็นสถานที่ศึกษาดูงานเพื่อขยายผลสู่แปลงสมาชิกผู้เข้าร่วมโครงการคนอื่นๆ ภายในจังหวัด หรือจังหวัดอื่นๆ ทั้งนี้ แปลงเรียนรู้ดังกล่าวจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย 50,000 บาท สำหรับจัดทำป้ายเรียนรู้ ค่าวัสดุอุปกรณ์ทางการเกษตร ค่าจัดทำระบบน้ำ ค่าตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้าง ค่าวิเคราะห์ธาตุอาหารในดินและใบพืช ค่าวัสดุสำนักงานหรืออื่นๆที่มีความจำเป็น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจความต้องการของสมาชิกเจ้าของแปลงเรียนรู้

ด้านสมาชิกกลุ่ม ที่นำกล่องบรรจุทุเรียนที่ได้รับสนับสนุนจากโครงการฯ ไปใช้ประโยชน์ พบว่าส่งผลให้เกษตรกรที่จำหน่ายทุเรียนออนไลน์สามารถกำหนดราคาจำหน่ายทุเรียนเองได้ เนื่องจากกล่องบรรจุทุเรียนที่ได้รับการสนับสนุนมีการบอกเล่าเรื่องราวของกลุ่ม (Story) ประโยชน์ของทุเรียน แหล่งผลิต วัน/เดือน/ปีที่บรรจุและเก็บเกี่ยวผลผลิต และวิธีการเก็บรักษาบนกล่อง แต่สมาชิกกลุ่มจำหน่ายทุเรียนออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Line Facebook และ Tik Tok ของตนเอง และขณะนี้อยู่ระหว่างการสร้างแบรนด์กลุ่ม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 – 2 ปี ประกอบกับเกษตรกรสมาชิกกลุ่มฯ ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) แล้ว เมื่อวันที่ 14 ก.พ.67 ในชื่อ”กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนวังหว้า 1” ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม และมีการบอกต่อคนรู้จัก ทำให้สามารถจำหน่ายได้ในราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 118.81 บาท จากเดิมก่อนเข้าโครงการฯ กิโลกรัมละ 103.48 บาท (เพิ่มขึ้น 15.33 บาท) สร้างรายได้รวมทั้งกลุ่มปีละประมาณ 132 ล้านบาท และยังพบว่า เกษตรกรที่จำหน่ายทุเรียนได้ในราคาสูงขึ้นส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่จำหน่ายทุเรียนแบบออนไลน์ ซึ่งมีความพร้อมและความสามารถด้านการทำการตลาดออนไลน์ ดังนั้นควรส่งเสริมและพัฒนาด้านการจำหน่ายสินค้าเกษตรออนไลน์ให้กับเกษตรกร เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มอำนาจในการกำหนดราคาให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ สำหรับเกษตรกร หรือผู้สนใจสินค้าของทางกลุ่ม หรือขอเข้าศึกษาดูงาน สามารถสอบถามได้ที่นางมาริน สมคิด ที่ปรึกษากลุ่มฯ โทร 08 1940 4384

#Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์