ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ผู้สื่อข่าว ไทยเเทบลอยด์ รายงานว่า ตามที่เว็บไซต์เดอะซิดนีย์เฮรัลด์มอร์นิง (SMH) สื่อของออสเตรเลีย รายงานโดยอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ นายศุภกร โนจา ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพและพัฒนาเด็ก เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ว่าทางศูนย์ฯ ได้ติดตามข้อมูลผู้ต้องสงสัยและผู้ต้องหาหลบหนีคดีล่วงละเมิดทางเพศรวมหลายร้อยคนที่อยู่ในพัทยาและพื้นที่อื่น พบว่า กลุ่มคนเหล่านี้มักเดินทางไปมาระหว่างไทย ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา ทำให้การติดตามตัวค่อนข้างลำบาก นอกจากนั้น ในปัจจุบัน อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มประชากรไทย ทำให้ผู้ก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศเด็กเข้าถึงเยาวชนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น นั้น
พ.ต.ท.ปองพล เอี่ยมวิจารณ์ รองโฆษกสำนักงานำตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า เนื่องจากผู้ต้องสงสัยและผู้ต้องหาหลบหนีคดีล่วงละเมิดทางเพศนั้น อาจได้กระทำความผิดขึ้นในประเทศอื่น จึงไม่มีข้อมูลอยู่ในฐานข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการประสานข้อมูลกับสถานเอกอัครราชทูต (สอท.) ต่างๆ ในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจาก สอท. ต่างๆ อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จาก สอท.ที่มีผู้ช่วยทูตตำรวจประจำการอยู่ เช่น เจ้าหน้าที่ FBI สหรัฐอเมริกา เจ้าหน้าที่ตำรวจแคนาดา (RCMP) เจ้าหน้าที่ตำรวจเครือรัฐออสเตรเลีย (AFP) และผู้แทนหน่วยงานปราบปรามอาชญากรรมแห่งชาติ (National Crime Agency) ประจำ สอท.อังกฤษ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังได้รับข้อมูลจากองค์การตำรวจสากล (INTERPOL) ซึ่งจะมี “หมายเขียว” หรือ Green Warrant แจ้งเตือนการเดินทางเข้าประเทศของบุคคลพึงระวังที่เคยมีพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศเด็กมาก่อน ว่าจะเดินเข้าราชอาณาจักรไทยโดยเที่ยวบินใด และจะพำนักอยู่ที่ใด ทำให้สามารถตรวจสอบความเคลื่อนไหวของบุคคลเป้าหมายได้ และหากตรวจพบว่าได้มีการกระทำความผิดในประเทศไทย ก็จะดำเนินการตามกฎหมายทันที
แต่เนื่องจากในปัจจุบัน อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มประชากรไทย ทำให้ผู้ก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศเด็กเข้าถึงเยาวชนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานยากขึ้น เนื่องจากต้องใช้ความรู้และเทคโนโลยีเฉพาะทางในการตรวจสอบและติดตาม ดังนั้น หลังจากที่รัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นรม.ได้ประกาศให้การต่อต้านการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ จากนั้นได้มีการจัดตั้ง คณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ต หรือ Thailand Internet Crimes Against Children (TICAC) ขึ้นในวันที่ 8 ม.ค. 2559 โดยได้รับความร่วมมือจากรัซบาลสหรัฐอเมริกา มีคณะทำงานและศูนย์ปฏิบัติการกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ มีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวน ตรวจค้น จับกุม โดยใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เหมือนเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วไป แต่มีจุดมุ่งหมายพิเศษในด้านการป้องกันและปราบปราบการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก และการแสวงหาผลประโยชน์จากการล่วงละเมิดดังกล่าว หรืออีกนัยหนึ่งคือการค้ามนุษย์ ตาม พรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ อีกทั้ง TICAC ยังมีอำนาจตาม พรบ.คุ้มครองเด็ก พรบ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และ พรบ.คนเข้าเมือง ซึ่งช่วยเสริมประสิทธิภาพให้กับเจ้าหน้าที่ TICAC สามารถปฏิบัติงานได้อย่างคล่องตัวขึ้นอีกด้วย
พ.ต.ท.ปองพล ยังได้เปิดเผยอีกว่า นอกจากนั้น TICAC ยังมีหน้าที่สำคัญในการประสานความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานเฉพาะด้านต่างๆ เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ทั้งภายในประเทศ ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศต่างๆ ทั่วโลกอีกด้วย
ซึ่งในปี 2559 ประเทศไทยมีผลการจับกุมผู้ต้องหาคดีการล่วงละเมิดเด็กทางอินเตอร์เน็ตเพียงแค่ 3 ราย แต่หลังจากก่อตั้ง ในปี 2560 ประเทศไทยมีสถิติการจับกุมผู้ต้องหาพุ่งสูงขึ้นถึง 32 ราย ซึ่งมากกว่าสหรัฐอเมริกาและอังกฤษกว่า 6 เท่า โดยคดีที่จับกุมผู้ต้องหาได้อันดับ 1 เป็นคดีการครอบครองสื่อลามกเด็ก รองลงมาคือการค้ามนุษย์และการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ตามลำดับ
ส่วนคดีทีน่าสนใจในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมานั้น ด้วยความร่วมมือระหว่าง TICAC ตำรวจภูธรภาค 5 และ FBI เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2560 ได้ร่วมกันจับกุมคนร้ายชาวไทยได้ในบริเวณพื้นที่จังหวัดลำปาง ในข้อหามีวัตถุหรือสิ่งของลามกไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และมีสื่อลามกอนาจารเด็กไว้ในครอบครอง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 287 และ 287/1 โดยได้มีการนำเสนอผลการปฏิบัติงานผ่านช่องทาง www.facebook.com/TICAC2016 อยู่อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยเป็นจำนวนมากในแต่ละปี จึงอาจทำให้มีบุคคลไม่พึงประสงค์กลุ่มนี้ปะปนเข้ามาด้วย ดังนั้น จึงอยากให้สังคมช่วยเป็นหูเป็นตา เป็นแนวร่วมปกป้องดูแลเด็กและเยาวชน โดยหากพบเห็นหรือมีเบาะแสการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ สามารถแจ้งเบาะแสเข้ามาได้ทาง www.facebook.com/TICAC2016 ได้อีกทางหนึ่ง
สำนักงานตำรวจแห่งชาติเล็งเห็นว่าการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดนั้น เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ส่วนต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหานั้นเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนทั้งในเชิงสังคมและจิตวิทยา ซึ่งไม่มีหน่วยงานใดสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้เพียงลำพัง ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญและต้องบูรณาการความร่วมมือกันอย่างจริงจัง ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติยินดีให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่ “รองโฆษก ตร.กล่าว”