“เราไม่เอาไว้” “ผู้ว่าฯชัชชาติ ” ลั่นผิดเป็นผิด ไม่ยอมรับทุจริตทุกกรณี เดินหน้าตรวจสอบทุกโครงการไม่มีละเว้น หลังการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายในศูนย์กีฬาฯส่อทุจริต
(6 มิ.ย. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการแถลงข่าวกระบวนการตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายในศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ และศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ หลังจากที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติในการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายที่มีราคาสูงกว่าราคาตลาด โดยมี นายจักกพันธุ์ ผิวงาม นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสมบูรณ์ หอมนาน รองปลัดกรุงเทพมหานคร และ ผศ.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้พัฒนา actai.co ระบบตรวจสอบความโปร่งใส และแหล่งข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ร่วมการแถลงข่าว ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวถึงการบริหารงานของ กทม. ประกอบไปด้วย 3 ฝ่าย คือฝ่ายบริหาร ฝ่ายข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และฝ่ายสภา ซึ่งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างก็จะแบ่งเป็นขั้นตอน เรียกง่ายๆว่า 4+1 กล่าวคือ 1.ร่างข้อบัญญัติงบประมาณ 2.เข้าสภาเพื่อเป็นข้อบัญญัติ 3.เมื่อผ่านการเข้าสภาเพื่อตรวจสอบว่างบประมาณมีความเหมาะสมหรือไม่ตามกฎระเบียบต่าง ๆ จนได้ออกมาเป็น พ.ร.บ. ในขั้นตอนนี้ 4. ขั้นตอนการตรวจรับงาน และขบวนการสุดท้าย ที่บวก 1 คือกระบวนการจากภาคประชาชนในการตรวจสอบ ผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ จะต้องร่วมกันทำอย่างจริงจังและเข้มข้น ในแต่ละขั้นตอนเราต้องเพิ่มความละเอียดรอบคอบในทุกๆขั้นตอน ลักษณะการปรับปรุงความเข้มงวดต่าง ๆ ต้องทำทั้ง 4 ขั้นตอน
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อว่า ยอมรับว่าปัญหาการคอร์รัปชันยังมีอยู่ ไม่ได้หมดไป เรายังคงต้องเดินหน้าและปรับปรุงอยู่เสมอ เมื่อทราบเรื่องได้สั่งการให้ทางศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ศปท.กทม.) ตรวจสอบทันที ซึ่ง ณ ขณะนี้กำลังดำเนินการตรวจสอบว่ามีจุดไหนที่เกิดความผิดพลาดอย่างไร ขณะเดียวกันสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็ได้เข้ามาตรวจสอบตั้งแต่สองเดือนที่แล้ว เราเอาจริงเอาจังและไม่ยอมรับต่อการกระทำความผิด และจะต้องตรวจสอบอย่างรอบคอบ เพื่อขยายผลต่อ
“กรุงเทพมหานครและรัฐบาลจะต้องร่วมมือกัน ในการปรับปรุงตั้งแต่ขั้นตอนแรกของการจัดซื้อจัดจ้าง และปรับปรุง พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างในอนาคตต่อไป” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
รองปลัดฯ กทม. ชวนเอกชนร่วมประมูล เพื่อให้การใช้งบประมาณคุ้มค่าที่สุด
รองปลัดฯ สมบูรณ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างว่า เบื้องต้นที่ได้ทำการตรวจสอบ โครงการได้ดำเนินการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการ e-bidding เป็นการซื้อโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน สำหรับการกำหนดราคากลาง กทม.ไม่ได้เป็นผู้ตั้งราคาขึ้นมาเอง โดยให้คณะกรรมการสืบราคาจากท้องตลาดไม่น้อยกว่า 3 ราย ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างนั้น ๆ มีความมั่นคง มีมาตรฐานที่มั่นใจได้ว่าจะไม่ทิ้งงานและไม่ทิ้งการให้บริการหลังการขายและของต้องมีคุณภาพ ในการนี้เป็นบริษัทที่จำหน่ายเครื่องออกกำลังกาย โดยภายหลังกระบวนการสืบราคา จะใช้ราคากลางตามระเบียบกฎหมายกำหนด
“ขอยืนยันว่าหากตรวจสอบและพบการกระทำผิด หรือการทุจริตจริง กรุงเทพมหานครจะดำเนินคดีตามกฎหมายไม่ละเว้น ทั้งนี้ ขอเชิญชวนภาคเอกชนเข้าร่วมการประมูลการจัดซื้อจัดจ้างของกรุงเทพมหานครเพื่อให้การใช้งบประมาณเกิดประโยชน์มากที่สุด” รองปลัดฯ สมบูรณ์ กล่าวในตอนท้าย