หน้าแรกเศรษฐกิจ-การเงินซีอีโอ อบาคัส ดิจิทัล ร่วมเวที Nikkei Forum 2024 แนะ “แนวทาง” คว้าโอกาส พิชิตความท้าทายในยุคดิจิทัล

ซีอีโอ อบาคัส ดิจิทัล ร่วมเวที Nikkei Forum 2024 แนะ “แนวทาง” คว้าโอกาส พิชิตความท้าทายในยุคดิจิทัล

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท อบาคัส ดิจิทัล จำกัด ได้รับเกียรติเป็นผู้ร่วมเสวนาในงาน Nikkei Forum ที่จัดขึ้น ณ เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในหัวข้อการเสวนา Cross-border Digital Synergy: Enhancing Asia-Pacific Cooperation บนเวทีเดียวกับ ดร.เกา กึมฮวน เลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) โดยในการเสวนานี้ ดร.สุทธาภา ย้ำให้ภาครัฐและเอกชนร่วมมือสนับสนุนการปรับตัวของประเทศไทยเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจไทยฝ่ากระแสการแข่งขันที่ดุเดือดในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อทุกอุตสาหกรรม

•โอกาสและความท้าทายเมื่ออาเซียนก้าวสู่ยุคดิจิทัล

ประเทศสมาชิกอาเซียนมีความตื่นตัวและขานรับการเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นได้จากอัตราการเข้าถึงและใช้งานอินเตอร์เน็ตของอาเซียนที่สูงถึง 90% ใกล้เคียงกับสหภาพยุโรปที่ 91% และสหรัฐอเมริกาที่ 91.8% ปัจจุบัน ประชากรราว 350 ล้านคน จาก 700 ล้านคนของอาเซียนมีสมาร์ทโฟน ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและฟินเทคในภูมิภาคนี้จึงมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด รวมถึงมีสตาร์ทอัประดับยูนิคอร์นด้วย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวล้วนเอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลทั้งสิ้น

ดร.สุทธาภา ผู้ก่อตั้งบริษัทฟินเทคและให้บริการสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน “มันนี่ทันเดอร์” เปิดเผยว่า สินเชื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทและการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน อาเซียนเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพเพราะมีจำนวนประชากรมากราว 700 ล้านคน หากความร่วมมือเหนียวแน่น อาเซียนถือเป็นตลาดใหญ่อันดับ 3 ของโลกเลยทีเดียว รองลงมาจากจีนและอินเดียเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีหลายประเด็นที่ภาครัฐและภาคเอกชนในระดับภูมิภาคจะต้องร่วมกันพัฒนาหรือแก้ไขเพื่อก้าวข้ามความท้าทายและคว้าโอกาสในการเติบโต

•ความท้าทายที่ต้องพิชิต

โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ไม่ทั่วถึง แม้ตัวเลขการใช้สมาร์ทโฟนในภูมิภาคจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ประชาชนในเขตชนบทของเวียดนาม กัมพูชาและเมียนมายังคงเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
ความแตกต่างของกฎเกณฑ์ ประเทศสมาชิกอาเซียนยังมีเนื้อหาตัวบทกฎหมายที่แตกต่างกัน ซึ่งรวมถึงกฎหมายที่ควบคุมและปกป้องความปลอดภัยของข้อมูล มิเพียงเท่านั้น มาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ของแต่ละประเทศก็แตกต่างกันด้วย ซึ่งความแตกต่างทางกฎเกณฑ์ถือเป็นอุปสรรคหลักของการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ
ขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะ แม้ภาคการศึกษาจะพยายามปรับปรุงหลักสูตรให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในแวดวงดิจิทัล แต่อาเซียนหรือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงประสบปัญหาที่ผู้สำเร็จการศึกษามีทักษะไม่สอดคล้องกับที่ตลาดแรงงานต้องการ ดังจะเห็นได้จากการขาดแคลนบุคลากรในหลากหลายสายงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านไอที เช่น การขาดขาดแคลนนักวิเคราะห์ข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์
เติบโตแต่ไม่ทั่วถึง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมส่งผลให้มีความไม่เท่าเทียม ผู้คนในชนบท สตรีและผู้พิการ มักจะเป็นกลุ่มที่ถูกละเลยและไม่ได้รับโอกาสอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งนำมาสู่ปัญหาทางสังคมในระยะยาว

•แนวทางรับมือความท้าทายและคว้าโอกาสเติบโตของอาเซียน

ส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัย พัฒนา และการถ่ายทอดองค์ความรู้ ผ่านโครงการวิจัยและพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ตลอดจนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้ต่อยอดในภูมิภาค

ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานและรับรองคุณภาพวิชาชีพภายใต้มาตรฐานเดียวกัน เพื่อช่วยให้แรงงานมีการย้ายถิ่นฐานสะดวกขึ้นเมื่อมีทักษะตามที่กำหนด และดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถเข้ามาทำงานในภูมิภาคได้มากยิ่งขึ้น

ส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูลข้ามพรมแดนพร้อมวางกฎเกณฑ์ความปลอดภัยร่วมกันเพื่อส่งเสริมการพัฒนาบริการด้านดิจิทัลให้มีความหลากหลายครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การวางกฎเกณฑ์และมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และส่งเสริมความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนจะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจด้านดิจิทัลเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

•จัดทำนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อให้เทคโนโลยีเป็นประโยชน์ต่อคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง รัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียนควรลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลผ่านการจัดทำนโยบายที่ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีในกลุ่มคนด้อยโอกาส ตลอดจนเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มด้วยความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้แล้ว ประเทศอาเซียนควรร่วมมือกันขยายโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับการเชื่อมต่อข้อมูลดิจิทัลเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ดร.สุทธาภา ชี้ว่าเทคโนโลยีสามารถลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้จริง ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจกลุ่มสินเชื่อดิจิทัล ที่เปิดโอกาสให้ผู้เคยเข้าถึงไม่ถึงสินเชื่อในระบบและเคยถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ปล่อยกู้นอกระบบมาก่อนได้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่ปลอดภัย ที่ผ่านมา อบาคัส ดิจิทัล ให้บริการด้านสินเชื่อดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชัน มันนี่ทันเดอร์ โดยกว่า 30% ของลูกค้าเป็นกลุ่มที่เคยถูกปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคารมาก่อน และราว 1 ใน 3 ของลูกค้าเคยกู้เงินนอกระบบมาก่อน ยิ่งไปกว่านั้น ลูกค้ากว่า 50% ระบุว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นหลังมีโอกาสได้รับสินเชื่อจากมันนี่ทันเดอร์ ย้ำชัดถึงความสำเร็จของบริษัทในการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอบาคัส ดิจิทัล ยังทิ้งท้ายไว้ด้วยว่าความร่วมมือกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยปลดล็อกศักยภาพและนำพาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่โอกาสทางธุรกิจ นวัตกรรม และคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img