”ผู้ประกาศ-พิธีกร”ถ่อย-เถื่อน กิริยาสถุล-หยาบคาย”เกลื่อนจอ ห่วงเด็กเลียนแบบ-กสทช.ต้องเข้ม

4347

 

         สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)มีคำสั่งให้ระงับการออกอากาศรายการ”โหนกระแส” เป็นเวลา 1 วัน  ออกคำสั่งช่วงเดือนเมษายน 2567  ทางช่อง 3 เอชดี  มีกำหนดหยุดออกอากาศในวันที่ 7 มิถุนายน เป็นเวลา 1 วัน


          ในคำสั่งอ้างหัวข้อ”ศรี ตกลงทนได้ไหม”และทีนี้ก็ว้าวุ่นเลย ตบสนั่นตลาด ! สาวท้อง 6 เดือนโดนตบ อีกด้านโต้ก็มึงตบแม่กูก่อน” โดยอ้างเหตุผลว่า”เป็นการนำเสนอในลักษณะที่จะสร้างความเกลียดชัง ระหว่างคนในสังคมจนอาจนำไปสู่ความขัดแย้ง ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น อาจก่อให้เกิดความเกลียดชังซึ่งกันและกันของกลุ่มคนต่างๆในสังคม รวมถึงเปิดโอกาสให้แหล่งข่าวกล่าวร้ายหรือพาดพิงบุคคลอื่น ยั่วยุบริภาษ ด้วยการใช้ภาษาหยาบคายรุนแรงดูถูก เหยียดหยามบุคคลอื่นในเชิงลดคุณค่าทำให้มีความหมายเชิงลบ หรือลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ซึ่งเป็นจริยธรรมแห่งวิชาชีพ”

         การออกคำสั่งครั้งนี้ไม่แน่ใจว่า กสทช.ที่กำกับดูแลสื่อเกือบทุกประเภท เพิ่งตื่นหรือไร้บุคลากรในการติดตามดูเนื้อหา การใช้ภาษาของบรรดาพิธีกรหรือผู้ประกาศ พออยู่หน้าจอแล้วองค์ลง คำหยาบคาย กิริยาที่ไม่เหมาะสม เพื่อเรียกเรตติ้งหรือยอดวิว หรือชาวบ้านสุดทนกับพฤติกรรมดูเหมือนถ่อย เถื่อน ร้องเรียนเข้าไปจึงลงมือทำ แต่จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ความจริงอย่างหนึ่งในปัจจุบันนี้คือหลายรายการที่นำเสนอผ่านทีวีกระแสหลัก หรือโซเซียลในรูปแบบต่างๆ ผู้ดำเนินรายการ ผู้ประกาศข่าว จะเน้นการพูดคุยในเชิงหยาบคาย บางคนแสดงอากัปกิริยาเหมือนนั่งในวงเหล้า หรือบางคนแสดงอาการเสมือนเสพสังวาส หวังเพียงเพื่อเรียกเรตติ้งหรือยอดกดแชร์ กดไลค์ ยอดวิว เพื่อเพิ่มยอดรายได้ หรือเรียกโฆษณา

       สื่อบางช่องหรือสถานีวิทยุบางสถานี พิธีกรหรือผู้ดำเนินรายการ นอกจากจะใช้วาจาไม่เหมาะสมแล้ว ยังใช้หลักภาษาไทยแบบผิดๆ  อ่านคำควบกล้ำไม่ถูก บางคนตกภาษาถิ่น ไม่แน่ใจว่าผ่านการอบรมหรือสอบใบประกาศมาหรือไม่ ? ขณะที่การนำเสนอข่าวของสื่อทั้งทีวีออนไลน์หรือโซเซียลช่องทางต่างๆ ที่ชาวบ้านเข้าถึงได้ง่าย จะเป็นในลักษณะชี้นำแบบผิดๆ โดยเฉพาะข่าวอาชญากรรมนำเสนอกันแบบคนร้าย คนทำชั่ว กลายเป็นคนดี กลายเป็นเซเลบ ให้เยาวชนยึดเป็นแบบอย่าง กรณีคดีฆ่าน้องชมพู่ เป็นตัวอย่างที่อธิบายความได้ดีที่สุด

     รวมถึงการนำเสนอข่าวประเภทสายมู ไม่ว่าจะเป็นเชื่อมจิต  น้องหญิงพระพุทธเจ้า 5 องค์  พิธีไหว้ครูสักยันต์คงกะพันหนังเหนียว หรือการใช้หม้อครอบหัวรักษาอาการป่วย สื่อทีวีเกือบทุกช่องต่างนำเสนออย่างต่อเนื่อง ทั้งที่บางเหตุการณ์เป็นการกระทำของผู้ป่วยทางจิต หรือเด็กที่มีอาการบกพร่องทางร่างกาย

   ยิ่งช่วงวันใกล้หวยออกสื่อเกือบทุกสำนักไม่ว่าจะเป็นทีวีกระแสหลัก สื่อโซเซียลแพลตฟอร์มต่างๆ ล้วนนำเสนอการขอหวยจากทั้งจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือขอจากพวกอชิวชาและหมอดูสำนักต่างๆ ในลักษณะมอมเมาประชาชน ซึ่งซึมลึกลงไปทุกหย่อมหญ้าของประเทศ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของชาวบ้านทั่วไปก็ว่าได้

    จากปรากฏการณ์ที่นำเสนอล้วนแต่เป็นภัยร้ายที่กัดกร่อนคนในสังคมแทบทั้งสิ้น เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าสื่อแต่ละประเภทล้วนแต่ชักนำให้คนในสังคมให้เชื่อและเดินไปในทิศทางที่สื่อนำเสนอมากกว่าไม่เชื่อแล้วปฏิเสธกับสิ่งที่เสพเข้าไป

     ดังนั้น กสทช.ในฐานะผู้กำกับดูแลสื่อแทบทุกประเภททุกแพลตฟอร์อม ต้องหันมาทบทวนบทบาทตัวเองว่าจะต้องกำกับ บรรดา พิธีกร ผู้ดำเนินรายการ ผู้ประกาศ และผู้ผลิตสื่อแบบอิสระ ทั้งรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ ที่ใช้กิริยาแบบถ่อย เถื่อน ใช้วาจาหยาบคาย ปล่อยให้ผู้ที่ถูกเชิญมาออกรายการโต้เถียงด้วยวาจาหยาบคาย ชี้หน้าด่าออกอากาศ ใช้สรรพนามกับฝ่ายตรงข้ามด้วยชื่อของสัตว์เลื้อยคลาน  เพียงเพื่อเรียกเรตติ้งยอดไลค์ ยอดแชร์อย่างไร และควรหาบทลงโทษที่เหนือกว่าการสั่งงดออกอากาศรองรับไว้ได้ หากปล่อยให้มีดำเนินการดังที่กล่าว จะเพิ่มความเกลียดชังให้ทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างแน่นอนเหมือนกับที่ให้เหตุผลในการสั่งรายการโหนกระแสงดออกอากาศ 1 วัน

    จึงได้แต่หวังว่า กสทช. และกรมประชาสัมพันธ์ หน่วยงานของรัฐ คงมีมาตรการที่เด็ดขาดเพื่อกำราบพวกใช้วาจาถ่อย เถื่อน กิริยาหยาบโลน ออกจออย่างแน่นอน ซึ่งน่าจะดีกว่าไปจับจ้องสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลแล้วสั่งให้จอดำเพื่อเอาใจผู้มีอำนาจ เพราะสื่อประเภทนี้ส่วนใหญ่ใช้วาจาที่สุภาพและมีเหตุมีผลแทบทั้งสิ้น !!!