2 รมต.เกษตรฯนำคณะตรวจพื้นที่จ.น่าน

159

2 รมต.เกษตรฯนำคณะตรวจพื้นที่จ.น่าน“ธรรมนัส ”ควง“อรรถกร”บุก จ.น่าน ตรวจสอบพื้นที่ต้นน้ำสายหลักเจ้าพระยา เร่งสร้างอ่างเก็บน้ำให้คนท้องถิ่นมีน้ำใช้เพียงพอ เร่งยกระดับชีวิตเกษตรกรพร้อมแนะให้ทำการเกษตรควบคู่การท่องเที่ยว   

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ กล่าวหลังลงพื้นที่ตรวจราชการจ.น่าน โดยมี นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรฯ นายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ ผวจ.น่าน นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงศ์ รองปลัดเกษตรฯ ผู้บริหารก.เกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลไชยสถาน อ.เมืองฯ จ.น่านว่า แม่น้ำน่าน เป็นแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดในภาคเหนือ และเป็นสายหลักที่ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาถึงร้อยละ 45 ซึ่งต้องเร่งสร้างอ่างเก็บน้ำให้ประชาชนต้นสายได้ใช้น้ำ และป้องกันไม่ให้ไหลท่วมสู่จังหวัดข้างเคียง อีกทั้งเป็นจังหวัดขนาดใหญ่อันดับที่ 13 ของประเทศ มีพื้นที่กว่า 7 ล้านไร่ มีอนาเขตติดชายแดนประเทศลาว มีสถานที่พักและที่ท่องเที่ยวอยู่ใกล้เคียงกัน จึงอยากให้พัฒนาการเกษตรควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวจะทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น   

ด้านรมช.อรรถกร ได้กล่าวเสริมว่า การลงพื้นที่รับฟังความเห็นประชาชนตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งคณะได้ไปพบปะสมาชิกสหกรณ์ ณ ที่ทำการสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดของลูกค้า ธ.ก.ส.น่าน พบประสบปัญหาด้านราคาสินค้าเกษตร ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ ต้องทำงานควบคู่กับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้เพิ่มขึ้น 3 เท่าใน 4 ปี รวมถึงใช้การทำสินค้าเกษตร แบบมีตลาดนำ เพื่อให้เกิดการรับซื้อสินค้า ซึ่งในฐานะ รมช.เกษตรฯ ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องเศรษฐกิจของพี่น้องเกษตรกร และจะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างโปร่งใส สามารถเข้าถึงได้ 

  หลังจากนั้น รมว.ธรรมนัส ได้มอบโฉนดเพื่อการเกษตรแก่เกษตรกร 200 ราย ก่อนเดินทางต่อไปยังจุดก่อสร้างประตูระบายน้ำสมุน บ้านตาแก้ว ต.ไชยสถาน อ.เมืองน่าน เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการให้มีประสิทธิภาพ พร้อมบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้มีน้ำใช้เพียงพอในพื้นที่    

สำหรับช่วงบ่าย รมว.เกษตรฯ นำคณะพบปะเกษตรกร ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอแม่จริม และเดินทางไปต่อที่หอประชุม 2 โรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม เพื่อรับทราบความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำกิ ซึ่งเป็นโครงการที่ รมว.ธรรมนัส มอบหมายให้ทางกรมชลประทานศึกษาและรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตั้งแต่ปี 2565 เพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำความจุขนาด 52 ล้าน ลบ.ม. เพื่อช่วยเกษตรกรกักเก็บน้ำสำหรับเพาะปลูก และใช้อุปโภค-บริโภค รวมถึงรองรับน้ำไม่ให้ไหลท่วมสู่พื้นที่ด้านล่าง อีกทั้ง สร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดน่าน อีกด้วย.

#Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์#รมต.เกษตรฯ