“พัชรวาท” เผย ตุลาคมนี้เงินเดือนลูกจ้างพิทักษ์ป่าขยับพร้อมกันทั่วประเทศ เห็นใจทำงานเหน็ดเหนื่อยมอบนโยบายสร้างขวัญกำลังใจในการปกป้องรักษาป่าทุกด้าน
20 พฤษภาคม 2567 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับความเห็นชอบจากกรมบัญชีกลาง ในการขอปรับขึ้นค่าตอบแทนหรือเงินเดือนของบุคคลภายนอกที่ปฏิบัติงานให้กับกรมอุทยานฯ ตำแหน่งพิทักษ์ป่า จำนวน 13,419 อัตรา จากอัตรา 9,000 บาท เป็น 11,000 บาทต่อเดือน ในช่วงปลายปี 2566
ในปี 2567 สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณค่าตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่แบบขั้นบันได และส่วนหนึ่งกรมอุทยานฯได้มีการปรับแผนงบประมาณเพื่อขึ้นค่าตอบแทนให้เจ้าหน้าที่แบบขั้นบันไดด้วย โดยเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอายุงานน้อยกว่า 5 ปี ได้รับค่าตอบแทนจำนวน 9,500 บาทต่อเดือน เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอายุงาน 5-15 ปี ได้รับค่าตอบแทนจำนวน 10,000 บาทต่อเดือน และเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอายุงานมากกว่า 15 ปี ได้รับค่าตอบแทนจำนวน 11,000 บาทต่อเดือน ไปพลางก่อน
ล่าสุดสำนักงบประมาณ ได้จัดสรรงบประมาณในการปรับขึ้นเงินเดือนของบุคคลภายนอกที่ปฏิบัติงานให้กับกรมอุทยานฯ ตำแหน่งพิทักษ์ป่า จาก 9,000 บาท เป็น 11,000 บาท ทุกอัตราพร้อมกันทั่วประเทศ จึงเป็นเรื่องที่สร้างความปิติยินดีให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทุกคน ถือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจอย่างดียิ่ง ในการปกป้องทรัพยากรป่าไม้ของชาติ นอกเหนือจากการปรับขึ้นอัตราเงินเดือนในครั้งนี้แล้ว ที่ผ่านมากรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มีการเพิ่มสวัสดิภาพสวัสดิการให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า โดยการอนุมัติเงินอุทยานแห่งชาติ และเงินเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ในกรณีที่เจ้าหน้าที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เพื่อให้สามารถนำเงินในส่วนนี้มาใช้จ่ายให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งได้มีการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ไปแล้วเป็นจำนวนมาก
ด้านพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แสดงความห่วงใยต่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เนื่องจากภารกิจในการลาดตระเวนคุ้มครองดูแลรักษาพื้นที่ป่า เป็นภารกิจที่ยากลำบากอีกทั้งยังเสี่ยงต่ออันตราย จึงได้มอบนโยบายเกี่ยวกับการป้องกันรักษาป่าไว้ว่า เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าคือผู้ที่ทำหน้าที่ทั้งอนุรักษ์ คุ้มครองดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าให้คงอยู่ โดยการสร้างความสมดุลตามธรรมชาติด้วยการฟื้นฟู หยุดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ การสร้างระบบนิเวศในพื้นที่อนุรักษ์ให้ดีขึ้นตลอดเวลา เป็นภารกิจที่ยาก เป็นการปฏิบัติงานในเชิงรับและเชิงรุก ภารกิจสำคัญในเชิงรับคือป้องกันการบุกรุกการทำลายป่า การกระทำผิดตามกฎหมายอุทยานแห่งชาติ การละเมิดกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ภารกิจในเชิงรุกคือการฟื้นฟูและการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาบริหารจัดการ จะทำให้การทำงานในเชิงป้องปราม และการอนุรักษ์ทำได้ง่ายขึ้น จะทำให้เจ้าหน้าที่ของเราทำงานได้ด้วยความถูกต้อง ลดข้อขัดแย้งไม่สบายใจในการทำงานมากขึ้น